พด.ชู Zero Waste Village หมู่บ้านปลอดขยะอินทรีย์ต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนทุกมิติ

กรมพัฒนาที่ดินขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านปลอดขยะอินทรีย์ต้นแบบ (Zero Waste Village) เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีลดขยะเศษวัสดุและของเสียในชุมชนให้กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนทุกมิติตามโมเดล BCG

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ขับเคลื่อนงานภายใต้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด มิติที่ 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งที่ให้ความสำคัญกับ ZERO WASTE หรือการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ และมิติที่ 3 เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลก โดยส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร มีการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่น นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยในปี 2566 กรมฯได้ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านปลอดขยะอินทรีย์ต้นแบบ (Zero Waste Village) เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีลดขยะเศษวัสดุและของเสียในชุมชนให้กลับมาใช้ประโยชน์ ที่มีหมอดินอาสาเป็นประธานกลุ่ม โดยกรมฯได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตพร้อมทั้งสาธิตการนำขยะและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมัก ซึ่งโครงการนี้จะเป็นต้นแบบหมู่บ้านปลอดขยะอินทรีย์ 77 จังหวัด ที่นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ของเหลือจากชุมชน ครัวเรือน ร่วมกับผลิตภัณฑ์สารชีวภาพจากเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน มาหมุนเวียนใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมักได้ทำให้หมู่บ้านภายใต้โครงการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังสามารถลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ นอกจากนี้สิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ยังมีการจัดการขยะพลาสติกในหมู่บ้านต้นแบบเพื่อนำไปรีไซเคิล ถือเป็นการอนุรักษ์และรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนในชุมชนได้ทุกมิติต่อไป

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดินมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์การอัจฉริยะทางดิน ขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยแบบองค์รวมภายใต้โมเดล BCG โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลทำให้ภาคการเกษตรมีความมั่นคงทางอาชีพ สร้างความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร สามารถผลิตอาหารให้กับประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน