เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค-พอช.จัดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

พอช./ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาคร่วมกับ พอช. และภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป้าหมายเพื่อระดมความเห็น  นำไปสู่การขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง  ยกระดับไปสู่การจัดสวัสดิการชุมชนแนวใหม่  เป็นองค์กรช่วยเหลือทางสังคม  นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เผย 18 ปี จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว 5,921 กองทุน  สมาชิก 6.7 ล้านคน เงินกองทุนสะสมรวม 20,711 ล้านบาท ช่วยเหลือสมาชิกแล้วกว่า 3,200 ล้านบาท

‘18 ปีกองทุนสวัสดิการ’ จัดตั้งแล้ว 5,921 กองทุน

กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นกองทุนระดับตำบลหรือเทศบาล  ที่ประชาชนทั่วไป เกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนา  ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือดูแลกันในยามเดือดร้อนจำเป็น  เจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิต  ประสบภัยพิบัติ  ทุนการศึกษาเด็ก  การประกอบอาชีพ  ฯลฯ   โดยมีหลักการที่สำคัญคือ  สมาชิกกองทุนจะร่วมกันสมทบเงินวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  แล้วนำเงินนั้นมาช่วยเหลือดูแลกัน  โดยรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมสมทบเงินเพื่อให้กองทุนเติบโต  ดูแลสมาชิกและผู้เดือดร้อนได้ทั่วถึง

กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการจัดตั้ง  เริ่มแรกมีกองทุนจัดตั้งนำร่องทั่วประเทศจำนวน 99 กองทุน

ในปี 2553  รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการทั่วประเทศ ในอัตรา 1 ต่อ 1  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล สามารถสมทบงบประมาณสนับสนุนกองทุนได้ เพื่อให้กองทุนเกิดการเติบโต  มีความยั่งยืน ช่วยเหลือสมาชิก ผู้เดือดร้อน  ผู้ด้อยโอกาส  ฯลฯ ได้ทั่วถึง

ปัจจุบันมีกองทุนที่จัดตั้งแล้วทั่วประเทศ จำนวน 5,921 กองทุน  สมาชิกรวม 6,762,273  คน  เงินกองทุนสะสมรวมกัน 20,711  ล้านบาทเศษ  ช่วยเหลือสวัสดิการแล้ว  4,871,275 ราย  วงเงินรวม  3,289 ล้านบาทเศษ

‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

ระหว่างวันที่ 13-14 กันยายนนี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ  เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค  ร่วมกับ พอช. และภาคีเครือข่าย จัดงาน ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’  โดยมีผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.เข้าร่วมงานประมาณ 160 คน

นายแก้ว  สังข์ชู  ประธานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน  กล่าวเปิดงานสัมมนา  มีใจความว่า  การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.สรุปและทบทวนบทเรียนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในปีที่ผ่านมา  2.ทิศทางการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี 2567 โดยผลจากการสัมมนาทั้ง 2 วันจะนำไปสู่การออกแบบ  สร้างทิศทางใหม่ในการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมทั้งความร่วมมือกับภาคี หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเกิดความยั่งยืนต่อไป

“ที่สำคัญคือ  เราต้อง Rebrand  กองทุนสวัสดิการชุมชนของเราเอง  Rebrand รูปแบบและวิธีการทำงาน  เพื่อพิสูจน์ว่า  แม้บางกองทุนจะไม่ได้รับงบประมาณสมทบจากรัฐมานาน 6-7 ปี และไม่ได้พึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว  แต่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้  เพราะความร่วมมือของท้องถิ่น  ของชาวชุมชน  เพราะเงิน 1 บาทถ้าอยู่แบบปัจเจก จะไม่มีค่าอะไรเลย  แต่หากคนในตำบล 3 พันคน  เอาเงินคนละ 1 บาทมารวมกัน  จะได้เงิน 3 พันบาท  สามารถเอาไปสร้างประโยชน์ได้” นายแก้วกล่าวเปิดสัมมนา

นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เลขานุการเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค  กล่าวสรุปบทเรียนและผลการดำเนินงานสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ 5 ภาค  มีใจความว่า จากการรวบรวมและประมวลเป้าหมายการดำเนินงานของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 5 ภาค  พบว่า 1.ต้องการให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นองค์กรหลักที่รองรับโครงสร้างทางสังคม  2.พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้รองรับการแก้ไขปัญหาความยากจนของสมาชิกและผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน 3.พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นมืออาชีพ เกิดความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอก  และ 4.สร้างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทุกระดับ

ส่วนเป้าหมายหลักสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน  มี 3 เป้าหมาย คือ 1.สวัสดิการชุมชนสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 2.สวัสดิการชุมชนเป็นสวัสดิการทางเลือก  และ 3.กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นแกนหลักในการจัดสวัสดิการชุมชนให้คนในพื้นที่  โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย  เช่น 1.การพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 2.การพัฒนาเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ระดับจังหวัด  ภาค  และประเทศ  3.การพัฒนาความรู้และนวัตกรรม  ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาสวัสดิการชุมชนในช่วง 1-3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) เช่น  การผลักดันให้รัฐสมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนมากกว่ากองทุนละ 3 ครั้ง  2.การลดหย่อนภาษีให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่สมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน  3.ความร่วมมือกับกองทุนต่างๆ  เช่น  กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุน สปสช.ตำบล  ฯลฯ

สวัสดิการที่มากกว่า “เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย”

การสัมมนาในวันนี้มีการนำเสนอพื้นที่รูปธรรม “สวัสดิการชุมชน…สร้างคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนของชุมชน”  โดยนำเสนอพื้นที่กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้เดือดร้อนมากกว่าสวัสดิการพื้นฐาน “เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย”  เช่น

นายจำเริญ แก้วประชุม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี อ.เมือง จ.ลพบุรี  บอกว่า กองทุนช่วยเหลือดูแลสมาชิกและคนด้อยโอกาสในตำบล ผู้มีฐานะยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ในปี 2563  โดยมอบไก่ไข่ให้ผู้ด้อยโอกาสนำไปเลี้ยงรวม 13 หมู่บ้านๆ ละ 2 ครอบครัวๆ ละ 16 ตัว เพื่อให้มีอาหารกิน ที่เหลือสามารถนำไปแจกเพื่อนบ้านหรือขายเป็นรายได้

นอกจากนี้ในปี 2566 นี้  กองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จัดทำโครงการ “ไก่ไข่อารมณ์ดี”  โดย ม.ทักษิณสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่  พันธุ์ไก่ไข่จำนวน 400 ตัว  อาหาร  และยา  เลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือน  ไก่จะมีพื้นที่เดิน  หากิน  ไม่ถูกขังแบบแออัด เป็น ‘ไก่อารมณ์ดี’ โดยให้คนในตำบลที่ไม่มีงานทำ  หรือคนยากจนช่วยกันดูแล  โดยมีค่าตอบแทน และจะนำรายได้จากการขายไข่ไก่มาสนับสนุนการจัดสวัสดิการช่วยเหลือคนที่ยากลำบากในตำบล  เริ่มเลี้ยงเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นางสาวปัทมา ซัง  ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี  บอกว่า  พื้นที่ตำบลเสวียดมีโรงงานผลิตนำมันปาล์มหลายแห่งตั้งอยู่  เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  เช่น  อากาศ  ฝุ่นควัน  กองทุนสวัสดิการจึงคิดเรื่องเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว  เพื่อช่วยลดมลพิษ  โดยใช้พื้นที่ป่าสาธารณะที่มี ‘ต้นยางเหียง’ ขึ้นอยู่  ประมาณ 1,000 ไร่  สภาพเดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม  โดนบุกรุก

โดยกองทุนสวัสดิการฯ ช่วยกันฟื้นฟูป่า  ปลูกต้นยางเหียงและไม้อื่นๆ เพิ่มเติมกว่า 10,000 ต้น  เพื่อให้เป็นปอดของตำบล  สร้างอากาศบริสุทธิ์  เป็นแหล่งเกิดเห็ดเผาะ  ให้ชาวบ้านเก็บขายและกิน  ราคากิโลกรัมละ 700 บาท  ที่ผ่านมาเก็บได้มากกว่า 100 กิโลกรัม

นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการยังส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน  ให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาขายให้กองทุน แล้วกองทุนจะขายต่อให้รถรับซื้อ  นำส่วนต่างรายได้เข้ากองทุน ช่วยเหลือสมาชิก และสมาชิกที่ไม่มีรายได้  สามารถนำขยะมาแทนเงินสมทบรายปีๆ ละ 365 บาท

ส่วนขยะเปียก ทะลายปาล์มน้ำมัน นำมาหมักทำปุ๋ย ขายกิโลฯ ละ 3 บาท ปีหนึ่งทำปุ๋ย 2 ครั้งๆ ละประมาณ 200 ตัน  ปุ๋ยจำนวนหนึ่งให้สมาชิกนำไปใส่ในแปลงผักปลอดสารพิษ จำหน่ายเป็นรายได้ของสมาชิกกลุ่มปลูกผัก ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมี กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตวังทองหลาง  กรุงเทพฯ  ที่ช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เช่น นำเงินกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่มาจัดทำครัวกลาง  ทำอาหารแจกจ่ายคนตกงาน  คนที่ได้รับผลกระทบ   ทำศูนย์พักคอยในชุมชน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อนำมาเป็นอาหารแจกจ่าย  และขาย  นำรายได้เข้ากองทุน   ส่งเสริมผู้สูงอายุออกกำลังการ  เต้นแอโรบิค บาสสโลป สร้างสุขภาพป้องกันโรค ฯลฯ

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลมูโนะ  อ.สุไหงโก-ลก  จ.นราธิวาส  ซึ่งเกิดเหตุโรงงานพลุระเบิดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต  บาดเจ็บ บ้านเรือนและทรัพย์สินพังเสียหายจำนวนมาก  โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนับแต่เกิดเหตุการณ์  มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น  รวมทั้ง พอช.  เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน  ความช่วยเหลือระยะกลาง และระยะยาว เช่น ซ่อม สร้างบ้านใหม่ เพื่อให้คนมูโนะกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขโดยเร็ว

จัดประกวดกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นปี 2566 ตามแนวคิด ‘ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’

การจัดสัมมนาวันนี้  มีการแถลงข่าว “รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน:  ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ปี 2566” โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมแถลงข่าว

รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  จัดประกวดครั้งแรกในปี 2559 และจัดต่อเนื่องทุกปี  เว้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเฟ้นหากองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่างๆ จากทั่วประเทศ  เพื่อยกย่อง  เชิดชู  เป็นกำลังใจให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชน โดยที่ผ่านมาจัดประกวดไปแล้ว 6 ครั้ง มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลไปแล้วประมาณ  48 กองทุน

ในปีนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 7 โดยจะเปิดรับสมัครกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้  จนถึงเดือนตุลาคม  จากนั้นจะเป็นกระบวนการคัดเลือกในระดับภาค  และระดับประเทศ  และจะประกาศผลรางวัลกองทุนดีเด่นประเภทต่างๆ ในช่วงต้นปี 2567  และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคม  ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  ฯลฯ

การจัดประกวดปีนี้  มีรางวัลทั้งหมด 10 ด้าน  คือ รางวัลประเภทที่ 1 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก   รางวัลประเภทที่ 2 : ด้านการพัฒนาสุขภาพ  ความมั่นคงทางอาหาร  รางวัลประเภทที่ 3 : ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย  รางวัลประเภทที่ 4. ด้านการพัฒนาการศึกษา  การเรียนรู้  ทักษะการดำรงชีวิต  รางวัลประเภทที่ 5 : ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

รางวัลประเภทที่ 6 : ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน  รางวัลประเภทที่ 7  :  ด้านการสร้างความมั่นคง  ความปลอดภัยรางวัลประเภทที่ 8  :  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน   รางวัลประเภทที่ 9 : ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม  และรางวัลประเภทที่ 10  :  ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  (เกิดปี 2459 เสียชีวิต 2542) เป็นปูชนียบุคคลของสังคมไทย  เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท ฯลฯ  ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2508 และองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2558

ย้อนกลับไปในปี 2516  ดร.ป๋วยเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ  เรื่อง “คุณภาพชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ขนาด 2 หน้า  เพื่อนำเสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

หลังจากนั้นมีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง  เรียกบทความนี้สั้นๆ ว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐตั้งแต่เกิดจนตาย  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า…

“ เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่  ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก…

ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งสมองและร่างกายผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ  ผมต้องการให้แม่และตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์

ผมต้องการไปโรงเรียน  พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน  จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต  ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ก็ขอให้มีโอกาสได้เรียน ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน

เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว  ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย  ทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม….

เมื่อแก่  ผมและเมียก็ควรจะได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม  ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา…

นั่นคือข้อเขียนและความปรารถนาดีต่อสังคมไทยที่ ดร.ป๋วยเขียนเอาไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.psds.tu.ac.th/puey )  แม้จนถึงบัดนี้ข้อเขียนนี้ก็ยังดูล้ำสมัย  และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในรุ่นต่อมาได้ก้าวเดินตาม  เช่น  การส่งเสริมงานพัฒนาในเมืองและชนบท  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  กองทุนต่างๆ ขึ้นมาช่วยเหลือกัน  การดูแลอนามัยแม่และเด็ก  ตลอดจนการจัดสวัสดิการภาคประชาชน

โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือกันของภาคประชาชน  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกร  ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ  พนักงานรัฐ  บริษัทเอกชน  ถือเป็นการสืบสานปณิธานที่ ดร.ป๋วยเคยวาดหวังเอาไว้

ดังนั้นเพื่อส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว  หน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน  เช่น  สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  วิทยาลัยโลกคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ฯลฯ

จึงร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างโดดเด่น รวม 10 ด้าน !!