วันพุธที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมอาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรมประมงเข้าร่วมพิธีรับมอบรางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้รับมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ หรือที่เรียกว่า รางวัล “สำเภา – นาวาทอง” ประจำปี 2566 จำนวน 3 รางวัล จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งรางวัลที่มอบให้เพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูเกียรติให้หน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อย่างเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาว่ากรมประมงได้มีความพยายามผลักดันกระบวนงานอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเป้าหมาย ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบเพื่อปลดล็อค ช่วยลดปัญหาอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของภาคธุรกิจประมงให้เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้น (Easier) ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (Cheaper) ทันสมัยมากขึ้น (Smarter) จนเห็นเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจประมงอย่างแท้จริง
โดยรางวัล “สำเภา – นางวาทอง” ที่กรมประมงได้รับ มีจำนวน 3 รางวัล ดังนี้
รางวัลหน่วยงานระดับกรม : ระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำนำเข้า PPS (ระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของกรมประมง (Fisheries Single Window : FSW) ระบบการตรวจสอบตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measure : PSM) ระบบการออกหนังสือรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement Endorsement : PSE) ซึ่งเป็นระบบที่มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยการใช้เทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ต ทำให้สามารถลดขั้นตอนการปฏิบัติ ประหยัดเวลา ลดการใช้เอกสารทำให้ประหยัดทรัพยากร โปร่งใสตรวจสอบได้ ที่สำคัญ คือ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
รางวัลหน่วยงานระดับกระบวนงาน : การชำระค่าธรรมเนียม เท่ากับ ต่ออายุใบอนุญาต (สำหรับวัตถุอันตรายที่กรมประมงรับผิดชอบ) กรมประมงได้ปรับปรุงกฎหมาย โดยออกพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564 และนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (HAZDOF มาใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านวัตถุอันตรายทางการประมงที่ต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาต 5 กระบวนงาน ประกอบด้วย ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ใบอนุญาตส่งออกวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สามารถชำระค่าธรรมเนียม การต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตได้ผ่านระบบให้บริการออกใบอนุญาตและควบคุมวัตถุอันตรายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ HAZDOF) ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ลดขั้นตอนในการเตรียมเอกสาร ลดการใช้กระดาษ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลำบากให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัดในระหว่างกระบวนการต่ออายุใบอนุญาต จึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ ขับเคลื่อนการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป
รางวัลหน่วยงานระดับกระบวนงาน : ระบบการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน (Small Scale Service : SSS) ซึ่งเป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวประมงและเจ้าหน้าที่ ด้วยการบริการเป็นรูปแบบ Application SSS ใช้งานง่าย เพื่อเป็นทางเลือกว่าจะดำเนินการยื่นคำขอผ่านแอพลิเคชั่น หรือเดินทางไปที่สำนักงานประมงอำเภอเพื่อยื่นคำขอก็ได้ พร้อมทั้งหน่วยงานได้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องชาวประมงในการป้องกันความผิดพลาดในการยื่นเอกสาร ลดระยะเวลาในการติดต่องานราชการ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และใช้บริการได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเดินทาง ไม่เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารคำขอหรือเอกสารหลักฐาน (Paperless) ตลอดจนยกระดับการเรียนรู้เทคโนโลยีโดยสามารถใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังช่วยลดภาระงานและระยะเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วและสามารถพัฒนางานอื่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พัฒนาศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีให้สอดรับกับระบบราชการ 4.0 เป็นการประหยัดงบประมาณ อัตรากำลังคน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินการออกใบอนุญาตได้ อีกทั้งประชาชน นักศึกษา และประชาชนสามารถนำข้อมูลไปเพื่อใช้ประโยชน์ได้
จึงแสดงให้เห็นว่า 3 รางวัล สำเภา – นาวาทอง ที่กรมประมงได้รับในปีนี้ เป็นที่ประจักษ์ถึงการพัฒนาที่เปิดกว้างเชื่อมโยงและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้การบริหารจัดการองค์กรอย่างมีคุณภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งกำลังใจของกรมประมงที่จะมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนภาคการประมงไทยให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุดและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ สุดท้ายขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของกรมประมงทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจ เสียสละ อดทนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ จนเห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งต่อจากนี้ไป กรมประมงจะพัฒนาการประมงทุกๆ ด้านให้ดียิ่งขึ้น…อธิบดีกรมประมง กล่าว