วช. และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ปลื้ม เปิดอบรมโดรนแปรอักษร คึกคัก มีเยาวชน ร่วมงาน กว่า 3,000 คน

วันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษร เพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้ง 4 ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2566 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ พร้อมนี้ นายอิสสระ สมชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน และมี นายกานต์ กัลปัตินันท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. คณะผู้บริหารโรงเรียนพิบูลมังสาหาร และผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่ให้การต้อนรับ ด้วยวงโปงลางเยาวชนสร้างความคึกครื้นและประทับใจให้กับผู้ร่วมงาน ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์และสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการใช้โดรนและการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้ประโยชน์และนำไปต่อยอดในมิติต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างโดรนแปรอักษร ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกรที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียนและนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกับ วช. จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีโดรนแปรอักษรที่ทันสมัย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกร ที่จะนำความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมดังกล่าวในจังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย และในครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2566 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีผู้เข้ารับการอบรมรวมแล้วกว่า 500 คน ซึ่งสมาคมฯ เน้นสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร”

ภายในงานมีเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรมโดรนแปรอักษรครั้งนี้ จำนวนกว่า 3,900 คน โดยมีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานโดรนจากทีมหนูน้อยจ้าวเวหารุ่นบุกเบิกของโรงเรียนพิบูลมังสาหาร นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโปงลางของวงโปงลางศิลป์ไทรเงิน โรงเรียนพิบูลมังสาหาร อีกด้วย และในช่วงค่ำได้มีการนำโดรนแปรอักษร จำนวน 300 ลำ บินขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน โดยนำภาพจาก software ที่มีการพัฒนาออกแบบของเยาวชนที่เข้ารับการอบรม เป็นภาพแสดงถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวอุบลราชธานี สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

สำหรับโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โดยการสนับสนุนจาก วช. มีการจัดการอบรมไปแล้วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจ มีการใช้แพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ในอนาคต และจะมีการเฟ้นหาผู้ชนะในการแข่งขันโดรนแปรอักษรจากตัวแทนที่มาจากภูมิภาคต่าง ๆ ในระดับประเทศต่อไป