การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูการรับรู้และความคิดความเข้าใจ

งานกิจกรรมบำบัด  สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เป็นภารกิจหนึ่งของกรมการแพทย์ คือ การพัฒนาวิชาการด้านการบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ฝ่ายกาย โดยมีการศึกษา วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพิ่มพูนความรู้ และทักษะการปฏิบัติงานแก่บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณภาพตลอดจนให้บริการทางการแพทย์เฉพาะด้านหรือในระดับที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนอย่างได้มาตรฐาน สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ที่ให้การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการและผู้ป่วยตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมทั้งการเพิ่มพูนความรู้และทักษะการปฏิบัติงานแก่สถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหน่วยงานกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่กลุ่มผู้รับบริการฝ่ายกาย ผู้รับบริการหลัก คือ ผู้ป่วยพิการที่มีพยาธิสภาพทางสมอง ซึ่งความบกพร่องที่พบหลังเกิดพยาธิสภาพ ได้แก่ ด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว  ด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ ด้านการสื่อสาร ด้านการกลืนอาหาร การขับถ่าย ด้านพฤติกรรม และอารมณ์ ล้วนส่งผลต่อความยากลำบากหรือมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งหากความบกพร่องดังกล่าวไม่ได้รับการบำบัดฟื้นฟู   อย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อผู้ป่วยพิการให้กลายเป็นภาระต่อครอบครัว และสังคมในระยะยาว

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า ความสามารถด้านการรับรู้และความคิด ความเข้าใจ (perception & cognition)  เป็นความสามารถของบุคคลในการรับจัดการบูรณาการข้อมูลใหม่ รวมทั้งความรู้เก่า และแสดงออกมาในรูปแบบของความรู้ ความเข้าใจ การแสดงออกทางภาษา การเคลื่อนไหวอย่างมีเป้าหมาย การแก้ปัญหา ความจำ การคิดอย่างมีเหตุผล และการจัดลำดับขั้นตอนในการทำกิจกรรม ทำให้บุคคลนั้นเกิดการเรียนรู้สามารถติดต่อสื่อสาร และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต การตรวจประเมินและฟื้นฟูด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ เป็นบทบาทหนึ่งของนักกิจกรรมบำบัดที่มีความจำเป็นและสำคัญ เนื่องจากความบกพร่องด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจเป็นส่วนที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูความสามารถพื้นฐานในการทำกิจกรรมของบุคคลในด้านต่าง ๆ และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของบุคคล

คลินิกฟื้นฟูด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ (Perceptual and cognitive rehabilitation clinic) จัดตั้งขึ้นภายในงานกิจกรรมบำบัด โดยเป็นการผสมผสานรูปแบบการฟื้นฟูแบบดั้งเดิมร่วมกับการฟื้นฟูด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ให้บริการตรวจประเมินและฟื้นฟูแบบเดี่ยวโดยนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการฟื้นฟูการรับรู้และความคิดความเข้าใจรวมถึงการผลิตสื่อให้ความรู้ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิผลของการฟื้นฟูและยังเป็นการพัฒนารูปแบบบริการ (Model development) เพื่อเป็นต้นแบบบริการและเผยแพร่แก่หน่วยงานอื่น ทั้งภายใน และภายนอกกรมการแพทย์ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในหัวข้อ Perceptual and cognitive rehabilitation ในรูปแบบวิทยากร ได้แก่ โครงการอบรมระยะสั้นระดับนานาชาติด้านการพยาบาลฟื้นฟูสภาพ (international short course training in rehabilitation nursing) จำนวน 4 รุ่น โครงการอบรมระยะสั้นระดับนานาชาติ ด้านการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดเบื้องต้น (international training program in basic occupational therapy for health professional in Asian) จำนวน 2 รุ่น โครงการอบรมการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ผู้ร่วมอบรมเป็นบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจากทั่วประเทศ

โครงการอบรมการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดเบื้องต้น จำนวน 5 รุ่น ทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกอบรม แก่แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ใช้ทุนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดจากเครือข่าย (intermediate care: IMC) และนักศึกษากิจกรรมบำบัด รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานแก่บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านฟื้นฟูสมรรถภาพ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์จากองค์กร สถานพยาบาลต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์จากองค์กร สถานพยาบาลในประเทศไทย คณะอาจารย์และนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ คณะอาจารย์และผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรเฉพาะทางและคณะเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบล

แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการศึกษาวิจัย เป็นแหล่งเก็บข้อมูลและผลิตผลงานวิจัยและ R2R  พัฒนาองค์ความรู้ ทางกิจกรรมบำบัดด้านการฟื้นฟูการรับรู้และความคิดความเข้าใจ ผู้วิจัยประกอบด้วยนักกิจกรรมบำบัดภายในสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และนักศึกษาหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักกิจกรรมบำบัดประจำคลินิกฟื้นฟูด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจเป็นผู้วิจัยหลักและผู้วิจัยร่วม ได้แก่ ประสิทธิผลสื่อคู่มือการฝึกการรับรู้ทางสายตา ในผู้ที่มีความบกพร่องด้านการรับรู้และความคิด ความเข้าใจ การพัฒนาชุดฝึกการรับรู้และความคิดความเข้าใจ สำหรับผู้ที่มีพยาธิสภาพที่สมอง  ผลของการฝึกด้านความคิดความเข้าใจและการรับรู้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การศึกษาผลของแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์แท็บเล็ตสำหรับฝึกทักษะด้านความคิดความเข้าใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผลของโปรแกรมฝึกทักษะด้านความจำสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  โปรแกรมการฝึกที่ช่วยเพิ่มความสามารถ ในการทำกิจวัตรประจำวัน ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม การทบทวนอย่างเป็นระบบ The Training Programs for Improving ADL Functions in People with Dementia: A systematic review.  สถานการณ์และความต้องการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในผู้รับบริการที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ที่มีความบกพร่องด้านความคิดความเข้าใจระดับเล็กน้อยที่มารับบริการที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์  ชุดฝึกสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องด้านความคิดความเข้าใจ (medical innovation development cognitive training set)

การดำเนินการข้างต้น ทั้งด้านบริการ วิชาการและวิจัยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ และทักษะเบื้องต้นเกี่ยวกับการฟื้นฟูด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจแก่บุคลากรสาธารณสุขในสถานพยาบาลระดับต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้สามารถคัดกรอง ประเมินและให้การฟื้นฟูเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ อันจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต ของผู้รับบริการและครอบครัวในภาพรวม นอกจากนี้ยังตอบสนองยุทธศาสตร์กรมการแพทย์ ในการพัฒนาบุคลากร ด้านสุขภาพให้มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนพัฒนาสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาต สู่การเป็น Centers of Excellent (COE) ด้านการฟื้นฟูการรับรู้และความคิดความเข้าใจต่อไป

#กรมการแพทย์ #สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ #กิจกรรมบำบัด