กรมสุขภาพจิต ร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการกำแพงพักใจ กับ บริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด เจ้าของแอพพลิเคชั่นอูก้า (Ooca) หน่วยงานภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางให้การปรึกษาออนไลน์ ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น
วันที่18 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) ระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กับ บริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด เพื่อให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาออนไลน์แก่เด็กและเยาวชนอายุ 10-24 ปี ว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม เป็นปัญหาที่สำคัญทางสุขภาพ ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยรวมทุกกลุ่มอายุ อยู่ที่6 รายต่อชั่วโมง ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่น กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 300 กว่ารายต่อปี นอกจากนี้ มีข้อมูลตัวเลขสถิติ พบว่า ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า 100 คน จะเป็นวัยรุ่น 11 คน และในวัยรุ่น 100 คน จะมีภาวะซึมเศร้า 3 คน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการให้บริการปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มาเป็นระยะเวลานานซึ่งปัจจุบันสามารถจัดบริการให้ได้ปีละประมาณ 200,000 สาย จากการโทรเข้ามากว่า 800,000 สาย คิดเป็น 1 ใน 4 โดยกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ในปี 2561 พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กและเยาวชนโทรศัพท์มาขอรับการปรึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเครียดหรือรู้สึกกดดัน 2. ปัญหาความรัก 3. ปัญหาเรื่องเพศหรือการใช้สารเสพติด 4. ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น และ 5. ครอบครัว ไม่เข้าใจ โดยภาพรวมวัยรุ่นยังเป็นกลุ่มที่มีการเข้าถึงบริการน้อย โดยในปี 2561 ให้บริการได้ประมาณ 9,000 สาย ดังนั้น การค้นหาช่องทางในการช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของหน่วยงาน และเป็นที่มาในการพัฒนาความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการกำแพงพักใจ กับ บริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด เจ้าของแอพพลิเคชั่นอูก้า (Ooca) หน่วยงานภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและวัยรุ่น สามารถนัดและพบกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สามารถใช้ได้ทั้งบนมือถือแบบสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ โดยจะเป็นโรงพยาบาลเสมือน (Virtual Hospital) หรือโรงพยาบาลออนไลน์ที่สะดวกกว่า ไม่ต้องเดินทาง เลือกขอรับการปรึกษาเมื่อไรก็ได้ และมีความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งยังมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากกว่า 50 คน เพื่อให้การปรึกษา
ด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการกำแพง พักใจ เป็นโครงการที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยบริษัท เทเลเมดิก้า จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบให้การปรึกษาออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอูก้า โดยโครงการกำแพงพักใจเป็นโครงการนำร่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งในขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยนำร่องที่ลงนามเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยพะเยา สามารถรับบริการปรึกษาผ่านระบบโรงพยาบาลออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และจะขยายบริการให้ครอบคลุมเด็กและเยาวชนอายุ 10-24 ปี กลุ่มอื่นต่อไป ซึ่งวิธีการให้บริการปรึกษาออนไลน์ในลักษณะนี้ สามารถทำให้เด็กและวัยรุ่นได้พูดคุยระบายความรู้สึกและความเครียดได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ตามหลักทางวิชาการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา สามารถรับฟัง และชวนวิเคราะห์ รวมทั้งยังมีการพัฒนาระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกสุขภาพจิต เพื่อให้การดูแลต่อเนื่องในรายที่อาการรุนแรงหรือเรื้อรังอีกด้วย โดยมีหน่วยงานภาคเอกชน มูลนิธิ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมให้การสนับสนุน
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากความร่วมมือในช่วง 2 ปีนี้ (2562 – 2564) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ มีเป้าหมายที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 10-24 ปี จาก 300 รายต่อปี ให้เหลือเพียง 150 รายต่อปี และเพื่อเพิ่มจำนวนการให้การปรึกษาให้แก่ผู้มาใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จากจำนวน 200,000 สายต่อปี เป็น 400,000 สายต่อปี ภายในปี 2564 แพทย์หญิงดุษฎีกล่าว