กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จัดสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ว่าที่เรือตรี ชูชีพ  อรุณเหลือง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ ในการสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีนางอัญชลี  สายสวรรค์  หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษ กล่าวรายงานชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนาวิชาการฯ โอกาสนี้ นายคมสัน สารแสน ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเพชรบุรี กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารและคณะผู้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการฯ ในครั้งนี้ ณ ห้องเพชรบุรี โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ บีช รีสอร์ท อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ว่าที่เรือตรี ชูชีพ  อรุณเหลือง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริม การเรียนรู้ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้กับประชาชนทุกช่วงวัย และในทุกพื้นที่ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ พื้นที่ทุรกันดารที่เป็นพื้นที่สูง พื้นที่ชายแดนชายขอบ และเกาะแก่ง มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่เป็นชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่ ประกอบด้วย สกร.จังหวัดเชียงใหม่ น่าน ตาก แม่ฮ่องสอน พังงา เชียงราย พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” หรือ ศศช. ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้ไว้กับหน่วยงาน ซึ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้แก่ เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนในชุมชน อีกทั้งการดำเนินการจัดการเรียนการสอนของ ศศช. ยังเป็นการสนองงานตามโครงการพระราชดำริ

ทั้งนี้ ศศช. มีบางแห่งเป็น ศศช. ในพื้นที่ตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงงานในพื้นที่ทุรกันดาร พระองค์ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่สูงที่เป็นพื้นที่ทุรกันดาร และทรงเห็นความยากลำบากของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากในระบบอย่างทั่วถึง จึงได้ทรงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเข้าไปดำเนินการ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวจะมีหน่วยงานด้านการศึกษาร่วมจัดการศึกษาเพื่อสนองงานพระราชดำริ ประกอบด้วย ตชด. สพฐ. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ โรงเรียนเอกชน (สช.) สำนักการศึกษา กทม. รวมถึงกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ก็เป็นหน่วยงานร่วมสนองงานพระราชดำริด้านการศึกษาด้วยเช่นกัน โดยทรงพระราชทานให้หน่วยงานข้างต้นดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ครูผู้สอนใน ศศช. ดังกล่าว จึงเป็นกำลังสำคัญในการที่จะจัดการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่สูง ชายแดนชายขอบ ให้ได้ผลที่ดี ครูจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ที่หลากหลาย สามรถให้บริการด้านการศึกษาแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองงานโครงการพระรามดำริให้เป็นตามเป้าหมาย และเพื่อให้ครูในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และปฏิบัติงานอยู่ใน ศศช. ดังกล่าวซึ่งมีทั้ง ศศช. ในพื้นที่ทรงงาน และ ศศช. ในพื้นที่ปกติ รวมถึง ศรช.ชาวไทยมอแกน รวม 14 จังหวัด 793 แห่ง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงได้กำหนดจัดงาน “การสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครู ศศช. ประจำปี 2566”  เพื่อให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองที่หลากหลาย นำความรู้จากการสัมมนาวิชาการฯ ไปพัฒนาตนเอง พัฒนางานในบริบทของตนเองให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาการดำเนินงานเพื่อสนองงานโครงการตามพระราชดำริฯ ได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารต่อไป

นางอัญชลี  สายสวรรค์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษ  กล่าวว่า การจัดสัมมนาวิชาการฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อพัฒนาศักยภาพครู ศศช. ในพื้นที่ทรงงานและพื้นที่ปกติ ให้มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่จะสามารถนำไปพัฒนาตนเอง พัฒนางานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนพื้นที่สูง เป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

2. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การปฏิบัติงานของครู ศศช. ในพื้นที่ตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และของครู ศศช. พื้นที่ปกติ ในเขตพื้นที่สูง ชายแดนชายขอบ เกาะแก่ง ในการที่จะนำความรู้ไปพัฒนางานในความรับผิดชอบของตนเองให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการฯ ได้แก่ ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง/ภูมิภาค รวม 200 คน และ ครู กศน. ผู้ปฏิบัติงานใน ศศช. พื้นที่ทรงงาน พื้นที่สูง และเกาะแก่ง จำนวน 14 จังหวัด ในสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา รวม 1,200 คน ขณะที่การประชุมร่วมกับผู้บริหารและคณะทำงานแต่ละคณะ ได้มีหลักการทำงาน 3 ป. ได้แก่

1. ปลอดภัย เพราะผู้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการฯ ส่วนใหญ่เป็นครู ศศช. ที่เดินทางมาจากโซนภาคเหนือ เดินทางเป็นหมู่คณะ จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ให้มอบหมายบุคลากรคอยดูแล ควบคุมรถในการเดินทาง เพื่อให้ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ

2. ประหยัด ปฏิบัติตามระเบียบ สำหรับการจัดงานสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ มีคนเข้าร่วมงานจำนวนมาก การบริหารจัดการทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ วิธีการดำเนินงานต่าง ๆ ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เพื่อให้การจัดงานสัมมนาวิชาการฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหาและอุปสรรค

3. ประทับใจ การจัดการสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสงค์ให้ครูมีความสุข มีแรงบันดาลใจในการนำความรู้จากการสัมมนาวิชาการฯ การเรียนรู้จากวิทยากร การเรียนรู้จากการเข้าฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ไปใช้ในการทำงานบนพื้นที่สูง เพื่อพัฒนาคน พัฒนางาน ให้ครู ศศช. มีศักยภาพในการปฏิบัติงานบนพื้นที่สูงต่อไป

การจัดงานสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ มีกิจกรรมให้ครู ศศช. ได้เรียนรู้หลายประเภท ประกอบด้วย

1. นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาของ ศศช. ภาพรวม 14 จังหวัด นิทรรศการผลการดำเนินงานของผู้ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ซึ่งจะได้ร่วมเสวนาวิชาการภายในงาน และผลงานแนวปฏิบัติที่ดีตามโครงการ กพด. รวม 6 ด้าน

2. การบรรยายพิเศษ โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ  3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่อง “การดำเนินงานของครู ศศช. เพื่อสนองงานโครงการตามพระราชดำริ” โดย ดร.อภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “การประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้” โดย พันเอกสันดุษิต ดีบุกคำ ประธานเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า และเรื่อง “การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของครู ศศช.” โดย ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการสภาการศึกษา

3. การเข้าฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้ทางวิชาการ ในสถานที่จัดงานสัมมนาฯ และ ฐานการเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

4. การเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามบทบาท…สู่ความภาคภูมิใจ” โดยผู้บริหาร ครู ที่ได้รับรางวัลและมีผลงานเชิงประจักษ์

ซึ่งการสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน/สถานศึกษา จะได้รับฟังมุมมอง ข้อคิดจากวิทยากรและสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงาน การบริหารคน บริหารงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เป็นคนดี มีวินัย รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งมีสำนึกในความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

นอกจากนี้ในส่วนของครู ศศช. 14 จังหวัด จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็นจากครู ศศช. จังหวัดอื่น ๆ ด้วยกัน นำความรู้ที่ได้จากวิทยากร จากนิทรรศการ จากฐานการเรียนรู้ มาประมวลผลและนำไปต่อยอดในการทำงานบนพื้นที่สูง นอกจากนี้ ครูจะได้พัฒนาและเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนบนพื้นที่สูง ตลอดจนครูทุกคนจะได้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของตนเองให้เกิดผลสำเร็จและมีความสุขในการทำงานต่อไป