นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่าร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อีกทั้ง กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 5 – 10 กันยายน 2566 ในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณริมแม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง ได้สั่งการให้โครงการชลประทานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ รวมถึงติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และบริเวณจุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ พร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที