กรมชลประทาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีการวัดระยะไกล และ IoT (ไอโอที) หรือระบบ “RID Meesuk”

Featured Video Play Icon

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน พัฒนาโครงการชลประทานอัจฉริยะซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ระยะที่ 1 ในพื้นที่จัดการน้ำประมาณ 45,000 ไร่ ซึ่งในพื้นที่เกษตรกร ประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยมีการปลูก ข้าวหอมปทุมธานี 1 ข้าวกข41 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และพืชหลังฤดูกาล เช่น ปอเทือง กระจับ และถั่วเหลือง รวมทั้งการปลูกหญ้าแฝก  ป้องกันการกัดเซาะในแปลงสาธิต

ด้านนายณรงค์  มัดทองหลาง  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมนี้ ได้กำหนดพื้นที่นำร่อง 337 ไร่ เป็นแปลงต้นแบบเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

โดยใช้ระบบชลประทานอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการวัดระยะไกล และ IoT หรือระบบ “RID Meesuk” ที่ใช้งานบน Smartphone มาช่วยในการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ความต้องการใช้น้ำของพืช ระดับน้ำในแปลงนา เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและความต้องการใช้น้ำ รวมไปถึงการสั่งการควบคุมการปิด-เปิดอาคารชลประทานด้วยระบบการควบคุม SCADA ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรได้ว่าจะได้รับน้ำเข้าแปลงนาได้ตรงเวลา ลดความคลาดเคลื่อนในการจัดการน้ำ ลดความขัดแย้งในการใช้น้ำของกลุ่มเกษตรกร  ทำให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การทำนาแบบเปียกสลับแห้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิต ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นบ่อเกิดของภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

การดำเนินการโครงการนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกร โดยสามารถเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นจากการจัดการน้ำและการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม สามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมหลังฤดูเพาะปลูกและสร้างรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำที่ลดลง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนสร้างความพึงพอใจในการบริการของกรมชลประทานให้เพิ่มขึ้น

โดยที่โครงการดังกล่าว สามารถขยายผลให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ชลประทาน ควบคู่กับการส่งเสริมเชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนาตลาดข้าวเพื่อการปศุสัตว์ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและการตลาดดิจิทัลในพื้นที่โดยใช้โมเดล BCG และวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลอดจนเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Sandbox เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างทางการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่มาตรฐานการผลิตระดับสากล เพื่อให้การทําเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป