วธ. เผยแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานตามตัวชี้วัดแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 2 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และผ่านระบบออนไลน์

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2565) โดยได้รับความร่วมมือและการบูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ จากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนส่งเสริมคุณธรรมสู่ประชาชนใน 3 ระดับ คือ ระดับประชาชน ระดับสังคม ระดับชาติ และผลการดำเนินงานสร้างการรับรู้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของภาคีเครือข่าย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อก้าวไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ได้รับทราบผลการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงานต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และผลการดำเนินการจัดสมัชชาคุณธรรม 4 ภาค ที่สร้างความตื่นตัวให้กับชุมชน องค์กร หน่วยงานทุกภาคส่วน ให้มีการขับเคลื่อนคุณธรรมจนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ และมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์เพื่อยกระดับสู่การเป็นการจังหวัดคุณธรรม รวมถึงความก้าวหน้าของโครงการคนดีศรีจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมการยกย่องเชิดชูเกียรติเยาวชนและประชาชน ที่ดำรงตน ยึดมั่น ในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และหลักคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู”

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ มีการพิจารณาแนวทางการรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามตัวชี้วัด ทั้ง 9 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ตัวชี้วัดหลัก จำนวน 2 ตัวชี้วัด ได้แก่

1. ดัชนีคุณธรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570

2. หน่วยงานภาครัฐน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงาน มีค่า ITA เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 และตัวชี้วัดแผนย่อย จำนวน 7 ตัวชี้วัด ได้แก่

แผนย่อยที่ 1 การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม/การทำความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ประกอบด้วย 1.จำนวนประชากรอายุ 13 ปี ขึ้นไป มีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อนการมีคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี 2.จำนวนเครือข่ายทางสังคมมีขีดความสามารถในการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570

แผนย่อยที่ 2 การพัฒนาระบบและการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกเพื่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณธรรม ประกอบด้วย 3.จำนวนเครือข่าย/องค์กรจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ต่อปี 4.จำนวนองค์กรเครือข่ายทางสังคมที่มีการพัฒนาระบบเครดิตทางสังคม (Social Credit) ที่เหมาะสมกับบริบทของสังคไทยเพื่อรองรับการส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ภายใน ปี พ.ศ. 2570 5.จำนวนหน่วยงานภาครัฐมีค่า ITA ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570

แผนย่อยที่ 3 การส่งเสริมการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพคนและองค์กรเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม ประกอบด้วย 6.ทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 และ 7. จำนวนคนที่ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตจากการส่งเสริมคุณธรรมขององค์กรเครือข่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ต่อปี

ทั้งนี้ การรายงานผลได้กำหนดให้หน่วยงานระบุโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและเป้าหมายตามแผนย่อย 1-3 รวมทั้งระบุโครงการโดดเด่นของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้หน่วยงานระดับจังหวัด ระดับกระทรวง กรุงเทพมหานคร องค์กรอิสระ หน่วยราชการอิสระและองค์กรภาคเอกชน ได้นำไปปฏิบัติในการเก็บข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และให้รายงานผลเป็นรายปีงบประมาณ

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัดวธ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรมไปยังภาคส่วนต่างๆ ผ่านกิจกรรมในหลายมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) คือ คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรม “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และประเทศไทยปลอดทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น “สังคมคุณธรรม”