เอลนีโญยังแรง หวั่นแล้งยาว กรมชลประทานวอนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ

นับตั้งแต่เริ่มมีปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเรื่องภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ รวมถึงอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ หลายพื้นที่เริ่มมีปริมาณฝนลดน้อยลงหรือฝนทิ้งช่วงนาน ใกล้เคียงกับปี 2562 ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำยังไม่มากนัก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

ปัจจุบัน (26 ส.ค. 66) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 41,954 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 18,014 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคต กรมชลประทาน ได้วางแผนรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ด้วยการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี โดยให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เร่งสำรวจและหาแหล่งสำรองน้ำ ทั้งอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง และคลองในระบบชลประทานต่าง ๆ รวมถึงการชะลอน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าปกติ และปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือข้าวนาปรัง ปี 2566/67 ได้ โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ และต้องขอความร่วมมือเกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง

ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปีในปี 2566 นี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยโครงการชลประทานในแต่ละพื้นที่ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งปี 2566/67 ที่กำลังจะมาถึงนี้