นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เข้าไปวางไข่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา กระทบ
ต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียน ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ในราคาที่ต่ำลง และขาดความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค โดยในช่วงต้นฤดูฝนมักจะพบการระบาดทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสูงมาก หรือเป็นช่วงที่มีฝนตก เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ดินนิ่ม ดักแด้หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดินจะฟักตัวออกมา และทำลายภายในผลทุเรียน แต่เมื่อมองจากภายนอกผลจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย
ซึ่งในปีที่ผ่านมาเกษตรกรพื้นที่จังหวัดยะลาประสบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมด จากสถานการณ์ดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาและสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายกัสมัน ยะมาแล เกษตรจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้หลักที่สำคัญของจังหวัดยะลา มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น ๆ โดยในปี 2566 มีพื้นที่ปลูก จำนวน 96,234 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 66,788 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตประมาณ 89,661 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรยะลา กว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับในฤดูกาลผลิตปี 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ได้เร่งสร้างการรับรู้และเตือนภัยพี่น้องเกษตรผู้ปลูกทุเรียนให้เฝ้าระวัง ป้องกันกำจัด หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ด้วยวิธีการผสมผสาน ตั้งแต่ระยะการพัฒนาผลอ่อนซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่หนอนเจาะ เมล็ดทุเรียนจะเข้าไปวางไข่
โดยสนับสนุนวัสดุองค์ความรู้และการใช้นวัตกรรมใหม่ “ทุเรียนในแสงไฟ” ซึ่งเป็นการใช้ไฟแสงขาวจากหลอดฟลูออเรสเซนไล่ผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาได้เข้าไปส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว ในพื้นที่ผลิตที่สำคัญ และจะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกทั้งหมดต่อไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำเกษตรกรให้หมั่นสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ หากพบการทำลายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านทันทีเพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง และใช้วิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยวิธีการผสมผสานในพื้นที่ดังนี้
1. สำรวจติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ด โดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟ หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2-3 วัน ควรตรวจดูทุกวัน
2. ใช้ไฟแสงขาวไล่ผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
3. ห่อผลทุเรียนโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่าง เพื่อให้หยดน้ำระบายออก จะสามารถช่วยป้องกันผีเสื้อตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ก่อนห่อผลควรตรวจสอบ และป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง อย่าให้มีติดอยู่กับผลที่จะห่อ
4. รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังทุเรียนติดผลแล้ว เมื่อพบผลที่ถูกทำลาย หรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ด ควรเก็บผลร่วงไปเผาทำลายทิ้งนอกสวนทุกวัน เพื่อลดจำนวน เนื่องจากหลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน หากมีหนอนอยู่ภายในผล หนอนจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน และ
5. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เมื่อเริ่มพบตัวเต็มวัย โดยพ่นทุก 7-10 วัน ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ไซเพอร์เมทริน+โฟซาโลน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแลมบ์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรมีการสลับชนิดเพื่อป้องกันศัตรูพืชเกิดความต้านทาน
เกษตรจังหวัดยะลา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับมาตรการระยะยาว จังหวัดยะลาจะดำเนินการเร่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทุเรียนใต้แสงไฟ โดยใช้ไฟแสงขาวไล่ผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ พร้อมกับ การรับรองคุณภาพทุเรียนภายใต้ชื่อ “ยะลา คอนเฟิร์ม” (Yala Confirm) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จังหวัดยะลาจะบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และหอการค้าจังหวัด จัดทำตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพผลผลิต เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด
นอกจากการตรวจสอบที่เข้มงวดตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ/ผู้บริโภคด้วยการขายสินค้าดีมีคุณภาพ หรือหากลูกค้าซื้อสินค้าที่ด้อยคุณภาพไป ผู้ขายก็ยินดีเปลี่ยนสินค้าหรือคืนเงินแก่ลูกค้า เสมือนเป็นแรงจูงใจและสนับสนุนด้านการตลาดอีกทางหนึ่งด้วย