วันที่ 23 สิงหาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. นายชูชาติ รักจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายพิศิษฐศักดิ์ โชตะมังสะ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
โอกาสนี้ ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ได้กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้กับราษฎรและศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ฯ พร้อมถวายรายงานวิดีทัศน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้าง และกรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ปี 2542 โดยมี วัตถุประสงค์สนับสนุนแหล่งน้ำ ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 540 ไร่ และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับพื้นที่เพาะปลูกพืชของราษฎร จำนวน 11,960 ไร่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้กับราษฎรในพื้นที่อีกด้วย ภายหลังจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้ กรมชลประทานก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อส่งน้ำให้แก่ราษฎรด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ทำให้ความเป็นอยู่และรายได้ของราษฎรดีขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ
โดยได้นำรูปแบบของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นต้นแบบในการดำเนินการ ซึ่งกรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงาน กปร. ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ราษฎรมีความรู้ในด้านต่างๆ และสามารถนำไปประกอบอาชีพ สำหรับการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ฯ แห่งนี้
กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานศรีะเกษ ได้บริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ศูนย์ฯ มีน้ำอย่างเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของส่วนราชการต่างๆ ภายในศูนย์ฯ แต่เนื่องจากมีบางพื้นที่มีระดับที่สูง เช่น ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำได้ กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ภายในศูนย์ทั้ง 540 ไร่ ซึ่งขณะนี้โครงการฯ ได้ดำเนินการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบ เพื่อนำน้ำจากคลองส่งน้ำ สูบมายังบ่อพักน้ำที่จุดสูงสุด บริเวณพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ และกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในการนี้ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้รายงานและนำเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ให้แก่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. พร้อมคณะ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในด้านการบริหารจัดการน้ำต่อไป