วันที่ 17 สิงหาคม 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “การขับเคลื่อนการศึกษาภูเก็ตสู่ความเป็นสากล (DRIVING PHUKET EDUCATION TO INTERNATIONAL STANDARDS)” และร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOA (Memorandum Of Agreement) เสาหลักด้านการศึกษา Education Hub “ภูเก็ตเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ” โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากภาคเอกชน สมาคม องค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ คณะผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้นำท้องถิ่น จำนวนกว่า 147 หน่วยงาน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว กล่าวว่า “การศึกษา” เป็นเครื่องในการพัฒนามนุษย์ เป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนา ชุมชน จังหวัด และประเทศ จังหวัดภูเก็ตได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต 20 ปี (พ.ศ. 2566 – 2585) แผนแม่บท 10 เสาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีประเด็นการพัฒนา เพื่อเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจนอกจากการท่องเที่ยว คือ
ด้านที่ 1 การพัฒนาสู่เมืองเศรษกิจ
ด้านที่ 2 การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเติบโต
ด้านที่ 3 การพัฒนาคน ชุมชน สังคม
และจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมในการพัฒนาการศึกษาของชาติเพื่อให้มีมาตรฐาน และพร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นสากลและนานาชาติ ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเมืองการศึกษาภูเก็ตใน 8 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
1. การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
2. การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต
3. การวิเคราะห์ศักยภาพผู้เรียน
4. การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ
5. การสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
6. การพัฒนาทักษะดิจิทัล
7. กลไกการบริหารบุคคล
8. การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพชุมชน
นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดแผนแม่บท 10 เสาหลัก ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเสาหลักที่ 2 เป็นเสาหลักทางสังคม คือ เสาหลักทางการศึกษา Education Hub ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “ภูเก็ตเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ” ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ซึ่งการขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตโดยภาคส่วนของหน่วยงานราชการ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม มีเป้าหมายร่วมกัน คือ เพื่อให้การศึกษาของจังหวัดภูเก็ตตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก และตรงกับความต้องการของพื้นที่ที่มีความเป็นมาตรฐานและสู่ความเป็นสากล
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจ MOA เสาหลักด้านการศึกษา EDUCATION HUB “ภูเก็ตเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ” ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตสู่สากล เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลงานการขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต และเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOA) ระหว่าง ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงาน องค์กร สถานศึกษา ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องคุณภาพการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และกลไกการทำงานในเชิงพื้นที่
ด้าน ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง กล่าวถึงการจัดงานและการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ MOA ในครั้งนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นองค์ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชน ภายใต้คติที่ว่า “การศึกษาเอกชน ก้าวหน้า ก้าวไกล พัฒนาบุคลากรให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพตามมารตฐานการศึกษาชาติ” ซึ่ง สช. มีนโยบายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเอกชน การพัฒนาระบบบริหาร การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการทำงานในเชิงพื้นที่ของสถานศึกษาในจังหวัดภูเก็ต จะต้องอาศัยการบูรณาการ การเท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานการศึกษาที่ยั่งยืนทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป