วันที่ 10 สิงหาคม 2566 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในนาม “ครูช่าง” ได้สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ผลงานตลอดเวลากว่า 40 ปี โดยเป็นนักแสดงที่มีความสามารถสูง ในทุกบทบาท ทั้งละครโทรทัศน์ ละครเวทีและภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดงที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องเฉพาะตัว รวมถึงเป็นนักเขียนบทในรูปแบบการสอนเขียนบท คือ เล่นก่อนเขียน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการเขียนบทของประเทศไทย โดยให้นักแสดงร่วมเขียนบทไปด้วย จึงเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง ยังได้เปิดพื้นที่บ้านเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” โดยได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการกับวิถีชีวิตและกลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นการนำศาสตร์ด้านการแสดงมาใช้ในการสร้างสรรค์สังคม ประสานสังคม และบ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีคุณภาพต่อไป
ด้าน นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมงานวัฒนธรรม โดยการระดมทุนส่งเสริมเผยแพร่องค์ความรู้ และผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ดำเนินงานทางวัฒนธรรม ทั้งบุคคล องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้วัฒนธรรมของชาติได้พัฒนาสืบสานอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบ้านของศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นแหล่งสั่งสมองค์ความรู้ภูมิปัญญาและ เป็นสถานที่ที่สร้างผลงานอันล้ำค่า สมควรที่จะเผยแพร่ให้เป็นแหล่งศึกษา สร้างเสริมทักษะและถ่ายทอดประสบการณ์จากศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ
ดังนั้น การจัดงานเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ในวันนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ของบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน และประชาชนที่สนใจตลอดมา และเชื่อว่าบ้านศิลปินแห่งชาติหลังนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านศิลปะการแสดงการเรียนรู้แบบบูรณาการกับวิถีชีวิต และกลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้แก่เด็กและเยาวชน อยู่คู่กับจังหวัดปทุมธานีและสังคมไทยต่อไป
ด้าน นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการเผยแพร่ภูมิปัญญาศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม กิจกรรมเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมขึ้นตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 32 แห่ง ซึ่งพบว่าบ้านศิลปินแห่งชาติแต่ละแห่ง ล้วนเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของศิลปินแห่งชาติ สู่สังคมไทย และการจัดงานเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช 2562 นับเป็นบ้านศิลปินแห่งชาติ หลังที่ 33 ของโครงการดังกล่าว สำหรับบ้านศิลปินแห่งชาติหลังนี้ ได้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ศิลปะการแสดงด้านดนตรีและละคร ให้แก่เด็กและเยาวชน ได้สืบสานมรดกภูมิปัญญาของชาติ ให้อยู่คู่ชุมชนและสังคมสืบไป
สำหรับ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” นี้ เริ่มต้นจาก คณะละครมรดกใหม่ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 จากการรวบรวมลูกศิษย์ลูกหาในขณะนั้น ก่อตั้งเป็นคณะละคร และมีละครเรื่องแรกนำเสนอต่อสายตาของผู้ชมต้นปี พ.ศ. 2538 ชื่อเรื่อง “สารพัด สาระเพ” จัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การทำละครของชนประคัลภ์ยังคงมุ่งเน้นที่จะทำละครเป็นอาชีพ โดยเนื้อหาและเรื่องราวเน้นที่การเล่าเรื่องในแบบที่เขาถนัดในฐานะผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นมือเขียนบทที่มีความสามารถสูงมาก ผสมผสานกับการเล่าเรื่องโดยใช้รูปแบบไทยและฝรั่ง ดนตรีไทยและดนตรีฝรั่งผสมผสานกันแล้วปรับให้เป็นไทยอย่างที่เขาเรียกรูปแบบของการทำงานของเขาว่า “ทำเทศให้เป็นไทย”
ต่อมา คณะละครมรดกใหม่ เริ่มปรับตัวเองเป็นคณะละครเร่ที่ไม่ต้องมีโรงละครใหญ่เป็นของตัวเองแต่เน้นการออกไปจัดแสดงละครในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 เป็นต้นมา และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนนำมาสู่คณะละครมรดกใหม่กับวิถีชุมชนและวิถีแห่งการเรียนรู้ นำมาสู่ “บ้านเรียนละครมรดกใหม่” ในปี พ.ศ. 2548 ตามแนวคิดสำนักดนตรีไทยบ้านบาตรของครูหลวงประดิษฐไพเราะ ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ผู้ที่สนใจและมุ่งมั่นตั้งใจอยากเรียนรู้รีด้านการละครและดนตรี ซึ่งภายในศูนย์ฯ มีกิจกรรมให้เรียนรู้ถึง 22 จุดด้วยกัน อาทิ เรือนขาว เรือนแพ บ้านนายท่าน โรงละครคุณปู่ โรงหนังพรานน้อย ลานอะรีน่า บ้านศิลปิน บ้านดำ ครัวพ่อแม่ เป็นต้น
โอกาสนี้ ขอเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชน และผู้ที่สนใจ เยี่ยมชม ณ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่” ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่ www.culture.go.th, เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @ วัฒนธรรม