กรมโยธาฯ ผนึกกำลัง จังหวัดชุมพร ขุดลอกดิน บริเวณฝายน้ำคลองเสร็จ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กักเก็บและบริหารจัดการแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ ตามแผนโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ
วันที่ 9 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. กรมโยธาฯ ผนึกกำลัง จังหวัดชุมพร ขุดลอกดิน บริเวณฝายน้ำคลองเสร็จ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ภายใต้แผนงานการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเป็นประธาน พร้อมด้วย นายดุษฎี เจริญลาภ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวรายงาน นายทรงชัย ชูทิพย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชุมพร นายสุนทร จอมเมือง นายอำเภอละแม หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ จิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรมขุดลอกดิน และปลูกต้นไม้พืชพรรณท้องถิ่นบริเวณรอบฝาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในการกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ และบริหารจัดการแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในทุกพื้นที่ ด้วยการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ทั่วประเทศ โดยผังภูมิสังคมฯ เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและในเชิงสังคมวิทยา ซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ อาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน
โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo–social Map) ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาเป็นต้นแบบในการจัดทำผังภูมิสังคมฯ และขับเคลื่อนพัฒนาต่อยอดกำหนดแผนงานโครงการให้เป็นรูปธรรมในทุกอำเภอ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการจัดหาน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยได้เล็งเห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ทั้ง 8 อำเภอ เต็มพื้นที่จังหวัด โดยกำหนดแผนโครงการแก้ไขปัญหาในจังหวัดตามผังภูมิสังคมฯ ทั้งหมด 340 โครงการ เริ่มดำเนินการโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีโดยไม่ใช้งบประมาณหรือใช้งบประมาณไม่มาก ดำเนินการในลักษณะจิตอาสา โดยในวันนี้จังหวัดชุมพรได้จัดกิจกรรมขุดลอกดิน จัดการแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่และเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่จึงได้ดำเนินการกิจกรรมขุดลอกดิน บริเวณฝายน้ำคลองเสร็จ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
เนื่องจากลักษณะพื้นที่ในตำบลทุ่งคาวัด ในหมู่ที่ 1,2,3 และ 4 เป็นพื้นที่ราบ ส่วนในหมู่ที่ 5,6,7 และ 8 เป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบสูง ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณ 95% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีความจำเป็นในการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตร บริเวณฝายน้ำคลองเสร็จ จึงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำคัญในพื้นที่ แต่เนื่องจากอยู่ใกล้พื้นที่เขาหลาง ทำให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำ เมื่อมีฝนตกทำให้ตะกอนดินพัดทับถมบริเวณฝายน้ำคลองเสร็จเกิดการตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมโยธาฯและจังหวัดชุมพรจึงได้จัดกิจกรรมการขุดลอกดิน เพื่อให้ฝายน้ำคลองเสร็จสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการดำเนินการได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรจากหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชุมพร ประกอบด้วย รถแบคโฮ จำนวน 1 คัน และเครื่องสูบน้ำสำหรับดูดโคลน 1 เครื่อง เมื่อโครงการดังกล่าวฯ แล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 6,460 ลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำประปาหมู่บ้าน มีจำนวนผู้ใช้น้ำ 334 หลังคาเรือน ประชาชน 934 คน ประกอบด้วยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ช่วยบรรเทาภัยแล้ง กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายพื้นที่ขยายผลนำแผนงาน/โครงการ ลงไปปฏิบัติหลายพื้นที่ทั่วประเทศ