อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.38% เร่งขึ้นเล็กน้อยตามราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับเพิ่มขึ้น

Key Highlights

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. ขยายตัว 38%YoY กลับมาเร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อหมวดพลังงานหดตัวในอัตราที่ลดลง ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารสดขยายตัวชะลอลงจากราคาเนื้อสัตว์ที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงที่ 0.86%YoY จากผลของฐานในปีก่อนที่เร่งสูงขึ้นและราคาเครื่องประกอบอาหารที่ลดลงเป็นสำคัญ
  • Krungthai COMPASS ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มกลับมาเร่งขึ้นในระยะข้างหน้าอาจทำให้ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.50 ภายในปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นหลังจากผลของฐานสูงในปีก่อนทยอยสิ้นสุดลง และในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและความเสี่ยงจากปัญหาเอลนีโญที่คาดว่าจะรุนแรงซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร อีกทั้งอาจกดดันให้ผู้ประกอบการที่แบกรับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงอาจปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง Krungthai COMPASS

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. อยู่ที่ 0.38% ขยายตัวเร่งขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.38%YoY เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.23%YoY (แต่ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.64% [1]) จากหมวดพลังงานที่หดตัวในอัตราน้อยลงเหลือ -3.12%YoY จากเดือน มิ.ย. ที่หดตัว -9.11%YoY ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดเติบโต 1.37%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.92%YoY ซึ่งชะลอลงจากราคากลุ่มเนื้อสัตว์ที่หดตัวต่อเนื่องตามราคาเนื้อสุกร อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้ราคาอาหารสดยังขยายตัวมาจากราคากลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมที่ขยายตัวเร่งขึ้น รวมถึงราคาข้าวสารและราคาผลไม้สดที่ขยายตัวเป็นสำคัญ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.86%YoY ชะลอลงเทียบกับ 1.32%YoY ในเดือนก่อน จากผลของฐานในปีก่อนที่เร่งสูงขึ้นและราคาเครื่องประกอบอาหารที่หดตัว ขณะที่ราคาสินค้าบางรายการยังขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และสินค้าของใช้ส่วนตัวในหมวดบริการส่วนบุคคลเป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 7 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 2.19% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.73%

Implication:

  • จับตาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นในระยะข้างหน้า อาจกดดันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. อีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.50 ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาเร่งขึ้นหลังจากผลของฐานสูงในปีก่อนทยอยหมดลง และในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อมีปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นตามอุปทานที่อาจลดลงต่อเนื่องตามการลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและการควบคุมการส่งออกของรัสเซียประกอบกับอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และความเสี่ยงจากปัญหาเอลนีโญที่คาดว่าจะรุนแรงใกล้เคียงกับช่วงปี 2558 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้นระยะข้างหน้า อีกทั้งอาจกดดันให้ผู้ประกอบการที่แบกรับต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ากลับมาทรงตัวในระดับสูง สอดคล้องกับมุมมองของ กนง. ล่าสุดที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับไปเร่งขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ในช่วงปี 2567 Krungthai COMPASS จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นในระยะข้างหน้าอาจทำให้ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ไปอยู่ที่ร้อยละ 2.50 และจะเป็นระดับที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกในระยะยาว

 

  • ราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานหลายรายการยังทยอยปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.04%MoM โดยสินค้าสำคัญที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคในบ้าน หมวดเคหะสถาน (ค่าเช่าบ้าน และอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด) หมวดบริการส่วนบุคคล (ของใช้ส่วนตัว) และค่าโดยสารสาธาระณะ เป็นต้น สะท้อนถึงผู้ประกอบการยังทยอยส่งผ่านราคาอย่างต่อเนื่อง และประเมินว่าหากต้นทุนราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอีกจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการส่งผ่านราคาเพิ่มขึ้นได้

 

[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as of August 2023)