กรมโยธาธิการและผังเมืองผนึกกำลังจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่าย Kick Off โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง บริเวณชุมชนบ้านวังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยไม่ใช้งบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นคลังยาและคลังอาหารของชุมชนบ้านวังอ้อ และเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า โครงการจัดการน้ำชุมชนบ้านวังอ้อ เป็น 1 โครงการ 1 พื้นที่ต้นแบบ ของโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ของอำเภอเขื่องใน และของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการขนาดเล็ก ดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบการจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนบ้านวังอ้อ หมู่ที่ 9 ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ โดยในโครงการได้ดำเนินการสร้างแก้มลิง (หลุมขนมครกตามรอยพ่อ) 3 แห่ง พื้นที่กักเก็บน้ำประมาณ 5,700 ลูกบาศก์เมตร ขุดคลองไส้ไก่ ปากคลองกว้าง 4 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 400 เมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นคลังยาและคลังอาหารของชุมชนบ้านวังอ้อได้ถึง 234 ครัวเรือน และยังได้ดำเนินการการปลูกหญ้าแฝก ปลูกป่า ปลูกสมุนไพร ปลูกไผ่ซางหม่น 2,000 ต้น ถนนอุโมงค์ไผ่สำหรับเดิน วิ่ง ออกกำลังกาย เตาอบสมุนไพร ลานจำหน่ายสินค้า ดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
จากการติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าว พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ได้กล่าวถึงผลสำเร็จการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ จังหวัดอุบลราชธานี 1 โครงการ 1 พื้นที่ต้นแบบ ในการจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน คลังยา คลังอาหาร และสวนสุขภาพชุมชน ณ บ้านวังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เดิมพื้นที่บริเวณนี้ทุกปีเมื่อฝนตกหนักน้ำจะไหลหลากลงสู่ทุ่งนาของชาวบ้าน แต่หลังจากปรับพื้นที่ให้มีหนองเก็บน้ำ มีหลุมขนมครก มีคลองไส้ไก่ ในปีนี้ผลปรากฏว่า หนองน้ำ หลุมขนมครก คลองไส้ไก่ สามารถกักเก็บน้ำได้ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ถึงแม้ฝนหมดก็คงเก็บความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ ใบหญ้า และสัตว์ได้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา