วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง
โดยมี นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายสุรชัย นำนาผล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง นายจิรพงษ์ ศาสตร์แย้ม ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ นายประสพโชค มั่งจิตร ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายราม ธนาคุณ ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานสรุป
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งคาดว่าจะยาวนานไปจนถึงกลางปี 2567 และอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจได้ กรมชลประทาน จึงได้วางแผนรับมือเพื่อสร้างความมั่นใจด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกที่มีอยู่ ผันน้ำจากคลองสะพานมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีศักยภาพสูบผันน้ำได้ประมาณ 470,000 ลบ.ม./วัน จากนั้นจะใช้อ่างฯ ประแสร์เป็นศูนย์กลางในการสูบผันส่งกระจายน้ำไปยังอ่างฯ คลองใหญ่ และผันน้ำต่อไปยังอ่างฯ หนองปลาไหล เพื่อกระจายน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่บริเวณปากคลองผันน้ำเชื่อมอ่างฯคลองใหญ่-อ่างฯ หนองปลาไหลเพิ่มเติม เพื่อเร่งการผันน้ำ(Gravity)จากอ่างฯ คลองใหญ่ ไปเติมอ่างฯ หนองปลาไหล ได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมกำชับให้ใช้ระบบชลประทานและโครงข่ายการสูบผันน้ำที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ