ประชาชนเฮ!! ครม. ไฟเขียวแผน NAP เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะผู้นำภูมิภาคในการขับเคลื่อนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 อย่างเป็นรูปธรรม โดย “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เป็นกรอบนโยบายของรัฐ จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยพัฒนาต่อยอดมาจากแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) บนพื้นฐานของการนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ การคุ้มครอง (Protect) การเคารพ (Respect) และการเยียวยา (Remedy) มาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจมีความตระหนักและดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวต่ออีกว่า แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 เป็นมาตรการผสมผสานระหว่างมาตรการบังคับสำหรับภาครัฐ และมาตรการสมัครใจสำหรับรัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจ โดยครอบคลุมประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านแรงงาน 2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงแผนปฏิบัติการฯ เป็นกรอบนโยบายระดับชาติที่คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนคุ้มครอง และไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจ อีกทั้ง ยังเป็นการยืนยันว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผลักดันการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม อันจะนำไปสู่สังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลก เน้นย้ำบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสร้างความยอมรับและความเชื่อถือจากประชาคมระหว่างประเทศต่อไป