“โคก หนอง นา โมเดล” จากพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเผยแพร่ศาสตร์ของพระราชาให้กว้างขวางออกไปสู่ประชาชนเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน “สู่ โคก หนอง นา โมเดล” อันเป็นแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่าย หลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง และยังประโยชน์ให้เกษตรเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตจาก การปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นแบบทฤษฎีใหม่ประยุกต์
คุณเทพ เพียมะลัง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างกระแส “โคก หนอง นา โมเดล” ว่า เกิดจากประสบการณ์ทำงาน เป็นนักวิชาการ ของบริษัททางด้านการเกษตรยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบในลงพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยสารเคมีฯ ข้อดีและประสบการณ์ที่ได้ทำงานนั้น คือได้สัมผัสใกล้ชิดกับชาวบ้าน พี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน เห็นความทุกข์ยากของพี่น้องเกษตรกรระยะหนึ่ง ต่อมาได้ลาออกจากบริษัทนั้น เพื่อมาทำงานในมหาวิทยาลัย และได้รับโอกาสจากนักวิจัยชุมชนให้เป็นผู้ช่วยนักวิจัยลงพื้นที่ เก็บข้อมูลโครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนด้านการเกษตรเรื่องต่างๆ ต่อมาได้รับโอกาสได้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องเป็นการวิจัยแก้ไขปัญหาการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรด้านมะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นหลัก ทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านมะขามหวาน จากการสั่งสมประสบการณ์ทำงานในพื้นที่กับพี่น้องเกษตรกรมาหลายปี ทั้งเป็นหัวหน้าโครงการเกษตรภายในมหาวิทยาลัยฯหลายโครงการ
ในขณะเดี่ยวกันทางมหาวิทยาลัยฯ ก็มีความประสงค์ที่จะขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดเป็นรูปธรรม ผมจึงได้รับโอกาสเข้าเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนในฐานะหัวหน้าโครงการเกษตรของมหาวิทยาลัย ประชุมหาแนวทางร่วมกัน หลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยก็มีนโยบายให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย ไปศึกษาเรียนรู้จากแหล่งอื่นๆ แล้วมาขับเคลื่อน โดยจัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงภายในมหาวิทยาลัยฯ ขึ้น และทางสภามหาวิทยาลัยได้มีมติ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยฯ เป็นรุ่นบุกเบิก ในขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้เชิญพี่น้องภาคีและเครือข่าย มาเป็นกรรมการในการขับเคลื่อนสถาบัน และในขณะเดียวกันได้มีโอกาส ศึกษาศาสตร์ของพระราชาจากสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิกสิกรรมธรรมชาติและเครือข่ายให้มีความลึกซึ้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น เช่น ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ส.ค.ส. พระราชทานทุกฉบับ และพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก
ต่อมาประเทศไทยเกิดวิกฤติในปี 2554 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงเป็นห่วง พื้นลุ่มน้ำป่าสัก มีใจความว่า
“…แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556
และพระองค์ยังทรงได้ติดตามการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และได้พระราชดำริแนวทางการแก้ไขปัญหาบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน
หลังจากนั้น อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ได้ลุกขึ้นมาเชิญชวนพี่น้องเครือข่าย เพื่อร่วมฟื้นฟูลุ่มนํ้าป่าสัก โดยเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำป่าสัก พร้อมกับสร้างแนวทางแก้ไข โดยทำโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลกรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” รณรงค์ฟื้นฟู หยุดแล้ง หยุดท่วม ลุ่มนํ้าป่าสัก ให้พี่น้องเกษตรกรเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว มาทำแบบ โคกหนอง นา โมเดล ในขณะเดียวกัน พี่น้องชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ชวนกันทั้งจังหวัดลุกขึ้นมาร่วมฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักเช่นกัน โดยได้รวมกันก่อตั้ง เครือข่ายคนต้นนํ้า “เพชบุระตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ในนามของภาคประชาชน และได้แบ่งพื้นที่ทำงานเป็น 3 โซน คือ โซนเหนือปัญหาของพื้นที่ คือ ภูเขาหัวโล้นโซนกลาง ปัญหาของพื้นที่ คือ ขาดแคลนนํ้าใช้ทางการเกษตร โซนใต้ปัญหาของพื้นที่ นํ้าหลากท่วม แต่ที่จริงแล้ว ทั้ง 3 พื้นที่ มีปริมาณน้ำฝนตกและน้ำหลากมากเพียงพอกับการใช้ทางการเกษตรแต่ไม่ได้เก็บไว้ใช้ จึงเกิดปัญหาตามมา คือทั้งนํ้าท่วม ทั้งนํ้าแล้ง ในพื้นที่เดียวกันคือ โจทย์ยากมากๆ ที่เราต้องอาสาเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา
คุณเทพ กล่าวอีกว่า การรณรงค์ให้เกษตรเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตจาก การปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นแบบทฤษฎีใหม่ประยุกต์หรือเรียกกันอีกอย่างว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่าย หลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ได้จริงหลุมขนมครก คือ การนำศาสตร์พระราชา ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาสู่การออกแบบพื้นที่ 1 พื้นที่ จำนวนกี่ไร่ก็ได้ ให้สามารถเก็บน้ำฝนในพื้นที่นั้นๆ ไว้ให้ได้ทั้ง 100% โดยต้องมีการคำนวณปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา น้ำสำหรับการบริโภค และปลูกข้าวซึ่งเป็นหลักการสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนั้นยังนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการ ดิน น้ำ ป่า มาใช้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในภาพรวม ทั้งการกั้นฝายชะลอน้ำ ฝายชุ่มชื้น การบำบัดน้ำเสีย การปลูกแฝก และป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น ได้แก่การนำดินที่ขุดจากหนองมาทำเป็นโคก การขุดหนองคดโค้งไปมาเพื่อเพิ่มพื้นที่รอบหนอง และเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา การขุดคลองไส้ไก่เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ การยกหัวคันนาสูงเพื่อกักเก็บน้ำฝนการทำนาน้ำลึกโดยใช้ระดับน้ำในท้องนาควบคุมวัชพืช และศัตรูพืชหลุมขนมครก เมื่อนำ มาปฏิบัติ จะแตกต่างตามพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่สูง
“การเกิดแรงบันดาลใจ ในการจัดตั้งเครือข่ายของพวกเรา คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนัก เป็นแบบอย่างให้พวกเราทุกคนเห็นอย่างกระจ่างชัด โดยไม่เคยบ่น ไม่เคยย่อท้อพระองค์ทำเพื่อเราทุกคน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ดังนั้น เราควรจะช่วยเหลือตัวเองและช่วงแบ่งเบาภาระของพระองค์บ้าง จุดเริ่มต้น ของการขับเคลื่อนเครือข่าย เริ่มต้นจากสมาชิกเครือข่ายลงมือทำของตนเองเพื่อเป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบให้เห็น ในส่วนขยายผลเครือข่าย เริ่มต้นทีละน้อย ใช้หลักคำสอนว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ความขาดแคลนไม่เป็นปัญหาถ้ามีปัญญาและความอดทน”
คุณเทพ เล่าต่อว่า เป้าหมายงานของพวกเรา ระยะเริ่มต้น 9 โรงเรียน 9 ชุมชน 9 คนมีใจ แล้วค่อย ๆ ขยายไปที่ละน้อย ๆ ภาย
ใต้ ยุทธศาสตร์ : แสนหลุม ลุ่มนํ้าป่าสัก เพชบุระรวมใจถวายพ่อ จึงเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดในปัจจุบัน
ด้านปัญหา อุปสรรค ในการขับเคลื่อน ที่จะทำให้พี่น้องเกษตรเปลี่ยน ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหา ด้านหนี้สิน ด้านความยากจนแก้ปัญหา คือต้องสร้างความเข้าใจ ในการปรับเปลี่ยนโดยค่อยๆ เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกทีละน้อย โดยไม่กระทบกับรายได้และวิถีชีวิตเดิมมากนัก จากที่ลงพื้นที่ติดตามงานที่ทำของพวกเรา เห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมของพี่น้องเกษตรกรเปลี่ยนไปมาก เช่น มีจิตสาธารณะมากขึ้น มีกิจกรรมโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกพืชแบบผสมผสานมากขึ้น
เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ตามภูมิสังคม หรือเรียกกันอีกอย่างว่า โคก หนองนา โมเดล เกิดการยอมรับของทุกหน่วยงานของจังหวัด จึงทำให้กิจกรรมของเราขยายผลไปสู่โครงการระดับจังหวัดหลายโครงการจึงเป็นผลสำเร็จ ในปัจจุบัน