หนังใหญ่ คือมหรสพที่มีมาแต่สมัยโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง ในอดีตนิยมใช้เป็นการแสดงในราชสำนัก แต่ปัจจุบันความนิยมได้ลดน้อยลง จนครั้งหนึ่งเกือบจะสูญหายไปจากสังคมไทยแล้ว แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้ จึงทำให้หนังใหญ่ยังคงมีลมหายใจ โลดเล่นอยู่ในสังคมไทยมาถึงทุกวันนี้
โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 31” โดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สมาคมนักเรียนเก่า เอเอฟเอส ประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) และ มูลนิธิธรรมดี ได้จัดกิจกรรมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย “หนังใหญ่” พาคณะเดินทางไปยัง วัดขนอน จังหวัดราชบุรี พร้อมร่วมสนับสนุนให้หนังใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน กล่าวว่า “คณะการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน คือ 1 ใน 3 คณะหนังใหญ่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ โดยทางวัดยังคงจัดการแสดง พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง และเรายังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้อีกด้วย ทำให้ในปี พ.ศ. 2550 ชุมชนวัดขนอนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม โดยในอนาคตเรามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้หนังใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นมรดกโลกต่อไปด้วย”
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของคนไทย เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่ทางทิพยประกันภัยและโครงการตามรอยพระราชา พยายามผลักดัน และส่งเสริมมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ทำโครงการ ซึ่งในการทำกิจกรรมตามรอยพระราชาครั้งที่ 31 นี้ เรามุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคนไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจถึงรากเหง้าของความเป็นไทย และเพื่อให้เกิดความรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทย เพราะเราเชื่อว่าศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งภูมิปัญญาต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของประเทศชาติ และเป็นรากฐานของความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง”
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า “ในครั้งนี้ ทางโครงการได้นำคณะครู-อาจารย์ ร่วมกิจกรรมทำบุญปล่อยปลาตะเพียน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 และชมการแสดงหนังใหญ่ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช และชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน อีกทั้งยังได้ร่วมลงมือทำกิจกรรมการตอกหนัง ทำพวงกุญแจ จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาเส้นทางธรรมชาติ และร่วมกิจกรรมปลูกป่าที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
“การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ผ่านโครงการพระราชดำริ ทั้ง 5,151 โครงการทั่วประเทศ รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เราได้เข้าใจถึงหลักคิด และวิสัยทัศน์ของพระองค์ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงต่อไป โดยแนวทางดังกล่าวยังได้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ หรือ UNSDGs ที่มุ่งหวังจะพัฒนาประชาคมโลก ขจัดความยากจนและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความเจริญอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 อีกด้วย” ดร.ดนัย กล่าวสรุป
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้ร่วมทำกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21, Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป อีกทั้งยังได้รับฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และ ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี