ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ครั้งที่ 2 โครงการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและครอบครัว กล่าวรายงานโดย นายวิศิษฐ์ ผลดก ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้น 200 คน
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มาเป็นเวลายาวนาน กว่า 20 ปี จึงไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหาการค้าประเวณีในปัจจุบันที่มีความซับซ้อน หลากหลายรูปแบบ เช่น การอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาค้าประเวณีในประเทศไทย การขายบริการทางเพศทางสื่อออนไลน์มากขึ้น ผู้เข้าสู่กระบวนการค้าประเวณีมีอายุน้อยลง มีทั้งเพศหญิง เพศชาย และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่บังคับใช้เกิน 5 ปี นับถึงวันที่ 9 กันยายน 2558
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ สค. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งเป็นการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองสวัสดิภาพสตรีและครอบครัวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปี ที่กฎหมายบังคับใช้ หรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
“การประชุมในวันนี้มีทั้งมีการอภิปรายและนำเสนอหลักการ แนวทาง เนื้อหาสาระในการแก้ไขปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และผลการศึกษากฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของต่างประเทศ โดย ผศ. ดร. มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ และ ดร. เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ แนวทาง และเนื้อหาสาระในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของประเทศไทยอีกด้วย” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย