ครบรอบ 25 ปี สถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ “วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” 

ครบรอบ 25 ปี สถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ร่วมทำบุญตักบาตรรอบพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวังหน้า องค์พระพิฆเนศวรเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ และรับชมการแสดง แสง สี เสียง สื่อผสม ชุด วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า ณ พระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส วัดพระแก้ววังหน้า

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี ดร.นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ คณะนักแสดง นักดนตรี แขกผู้มีเกียรติ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ลานพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรุงเทพมหานคร

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ ทัศนศิลป์ ที่สำคัญของชาติ และการบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน ทะนุบำรุงและสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย ประชาชนมีความภาคภูมิใจในมรดกของชาติ และนักท่องเที่ยวได้รับชมศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลก การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย จากการที่ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของไทยมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งมรดกโลก และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เช่น โบราณสถาน การแสดงโขน และโนรา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จึงเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีบทบาทในการสร้างรายได้และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เกิดการหมุนเวียนเงินภายในประเทศ

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวอีกว่า ในโอกาสครบรอบ 25 ปี สถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงได้จัดโครงการการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม เนื่องในวันครบรอบวันสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ครบรอบ 25 ปี เพื่อสร้างเสริมคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น และประเทศชาติด้วยทุนทางศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ และช่างศิลป์ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ กิจกรรมในงาน โดยในภาคเช้า มีการทำบุญตักบาตร พระภิกษุสงฆ์ 29 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล  แด่สมเด็จพระบวรราชเจ้าและกรมพระราชวังสถานมงคลทุกพระองค์ และอุทิศกุศลแด่บุรพาจารย์ ทุกท่าน ณ บริเวณรอบพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส ร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวังหน้า ดังนี้ 1.พระประธาน  ในพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส 2.พระพิฆเนศวร์ 3. พระชัยมงคล ณ ศาลพระภูมิ รับชมภาพยนตร์สั้น ชุด “วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” และองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ณ ศูนย์รักษ์ศิลป์  จำนวน 4 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 เวลา 10.00 น. รอบที่ 2 เวลา 11.00 น. รอบที่ 3 เวลา 15.00 น. รอบที่ 4 เวลา 16.00 น. และในภาคค่ำ เวลา 18.30 น. มีพิธีเปิดงานฯและรับชมการเสวนา “บอกเล่า นั่งคุย วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” ผู้ร่วมเสวนาโดยนายสด แดงเอียด กรรมการสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รองศาสตราจารย์ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ กรรมการสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ปลัด วธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม “ชุด วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” เป็นการบอกเล่าถึงประวัติ ความเป็นมาของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนาสถาบันสู่อนาคต การเป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ฝึกซ้อมและออกแบบการแสดงโดยผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินแห่งชาติ นำแสดงโดย นักเรียนนักศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อำนวยการฝึกซ้อมโดย ดร.นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ออกแบบการแสดงและกำกับการแสดงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พหลยุทธ กนิษฐบุตร รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา นักออกแบบท่าเต้นชั้นแนวหน้าของเมืองไทย กรรมการผู้ตัดสินรายการเดอะสตาร์ค้นฟ้าคว้าดาว  และรายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีทุนทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านที่ตั้ง มีอาคารพร้อมสาธารณูปโภคสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยรอบพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า ทั้งโรงละคร หอศิลป์ นิทรรศการ ศูนย์รักษ์ศิลป์ และการจัดการแสดง แสง สี เสียง มีความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ นอกจากเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นโอกาสดีในการประชาสัมพันธ์สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้จัดโครงการการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม เพื่อสร้างเสริมคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น และประเทศชาติด้วยทุนทางศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ และช่างศิลป์ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ