นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ระยะนี้ข้าวนาปีในหลายพื้นที่อยู่ในระยะแตกกอ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีหมั่นสำรวจแปลงปลูกสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังเพลี้ยจักจั่นสีเขียวจะอพยพเข้าแปลงหลังข้าวขึ้นเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงข้าวเจริญทางลำต้นและใบ โดยเพศเมียจะวางไข่ในกาบใบข้าว วางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8 – 16 ฟอง ระยะไข่ 5-8 วัน ระยะตัวอ่อน 10-15วัน และระยะตัวเต็มวัย ประมาณ 10 วัน เพลี้ยจักจั่นสีเขียวทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว โดยสังเกตได้จากลักษณะต้นข้าวเริ่มชะงักการเจริญเติบโตและเหี่ยวแห้ง ซึ่งอาจทำให้ต้นข้าวตายได้ถ้ามีปริมาณมาก นอกจากนี้ เพลี้ยจักจั่นสีเขียวยังเป็นพาหะนำโรคใบสีส้มสู่ต้นข้าวด้วย ทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตมีโอกาสเสียหายและได้ปริมาณลดลง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียวในนาข้าว นอกจากต้องหมั่นสำรวจแปลงนาเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งแล้ว การปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เช่น สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 เป็นต้น จะช่วยลดโอกาสที่นาข้าวจะถูกศัตรูพืชเข้ามาทำลาย สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตด้วย สำหรับการใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย หรือการใช้ชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 250 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 1 กก. /น้ำ 60-80 ลิตร ฉีดพ่นแปลงปลูกข้าวในบริเวณที่พบเพลี้ยจักจั่นสีเขียวในช่วงเวลาเย็น จะช่วยกำจัดศัตรูพืชได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หากเกิดการระบาด ควรใช้สารป้องกันกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมการข้าว ได้แก่ บูโพรเฟซิน หรือไดโนทีฟูแรน หรืออีโทเฟนพรอกซ์