วันที่ 28 มิถุนายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023) ครั้งที่ 12” ภายใต้แนวคิด “วิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2566 โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับการพัฒนาภูมิภาคในยุคดิจิทัล” พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน มี นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวต้อนรับในนามจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งานนี้เป็นการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับบุคลากร จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาหรือสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอด ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในภูมิภาคการจัดงานนับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่ายวิจัย ในภาคใต้และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง วช. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ร่วมการจัดงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ รมว.อว. ยังได้กล่าว การปาฐกถาพิเศษ การศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับการพัฒนาภูมิภาคในยุคดิจิทัล ว่า “เราเป็นชาติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าทางการวิจัยจะนำไปสู่การตอบสนองการวิจัยที่จะช่วยยกระดับประเทศ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ของบ้านเรานั้นดีมากไม่เป็นรองใคร อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน รวมถึงด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และการศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์เพื่อการนำมาพัฒนาภูมิภาค งานวิจัยอยู่กับเรามานานแล้วทุกยุคทุกสมัย ภาคใต้เป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย และมีจุดเด่นหลายอย่างที่เหมาะจะนำมาทำวิจัยเพื่อต่อยอด สุดท้ายขอให้มั่นใจในนักวิจัยของเรา และผลักดันงานวิจัยเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้ยั่งยืนต่อไป”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สำหรับการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” วช. ได้จัดให้มีขึ้นโดยข้อเสนอแนะของผู้บริหารหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อให้การนำเสนอผลงานวิจัยได้ขยายขอบเขตของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในภูมิภาคต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการจัดมา 11 ครั้งแล้ว โดยหมุนเวียนการจัดงานในภูมิภาคต่าง ๆ และมีมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2556 ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรก แล้วเวียนไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ ตามลำดับ ในการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” ประจำปี 2566 ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12″ ภายใต้แนวคิดหลัก “วิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2566 โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยการจัดงานมีความมุ่งหมายจะเป็นการยกระดับศักยภาพผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคใต้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ในวงกว้าง และเป็นรูปธรรม รวมถึงการได้ถ่ายทอดและเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม ที่เกิดจากการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นสู่ผู้ใช้ประโยชน์ในภาคใต้โดยตรง และบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้นำองค์ความรู้ไปผลิตผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นไปทั้งนี้ การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)” ครั้งที่ 12 ได้มีกิจกรรมสำคัญภายในงาน ประกอบด้วย 1. ภาคประชุม ประกอบด้วย กิจกรรมการประชุมและเสวนา 13 หัวข้อเรื่อง ตลอดการจัดงาน 3 วัน 2. ภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย
1) นิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ
2) นิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.
3) นิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
4) นิทรรศการงานวิจัยของหน่วยงาน เครือข่ายการวิจัยในภูมิภาค นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ศูนย์วิจัยชุมชน
5) นิทรรศการ Highlight stage แสดงอัตลักษณ์ของภูมิ ภาค: ภาคใต้
6) บูธขายอาหารสินค้าชุมชน
7) กิจกรรมการประกวดแข่งขันแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่: ภาคใต้
8) กิจกรรม Highlight stage เป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของการจัดงาน “วิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” โดยจัดเป็นพื้นที่พิเศษที่สื่อให้เห็นถึงความพร้อม และความเข้มแข็งของงานวิจัยในภูมิภาค นำเสนอกิจกรรมด้วยวิทยากรบรรยาย 6 หัวข้อเรื่องการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ โดยใช้การวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคบริหารจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องไปสู่อนาคตต่อไป
นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)” ที่มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องชาวนครศรีธรรมราชได้ต้อนรับประชาคมวิจัย ตลอดจนประชาชนทั่วไปทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ที่เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ และจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดแห่งนี้มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่เป็นเมืองการค้า การเกษตร และการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้ นอกจากนั้น จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอารยธรรม ที่มีการเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนพื้นฐานของธรรมะและวัฒนธรรม และขอต้อนรับทุกท่านเข้าร่วมงาน มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ และสุดท้ายนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมให้การสนับสนุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการดำเนินการจัดงานในครั้งนี้ ให้เป็นไปด้วยดี
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเกียรติจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)” ครั้งที่ 12 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้เกิดการขยายผลการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้าง ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ที่เกิดจากการวิจัยของนักวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็นรูปธรรม และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน ในนามผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าร่วมงานในครั้งนี้ และขอขอบคุณความร่วมมือและมิตรภาพอันดีของทุกภาคส่วน ในการร่วมสร้างสรรค์เวที นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับภูมิภาคครั้งนี้
คณะผู้บริหาร อว. และ วช. และหน่วยงานต่าง ๆ ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างผลงานวิจัยและกิจกรรม Highlight ได้แก่ นิทรรศการ “ธนาคารปูม้า” โดย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นิทรรศการ “วิธีการอบและการใช้ประโยชน์ไม้ปาล์มน้ำมันในรูปแบบใหม่แบบครบวงจร” โดย รศ.ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นิทรรศการ “ยกระดับน้ำมันปาล์มดิบ จากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอาง” โดย รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนิทรรศการ “งานวิจัยเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร” โดย รศ.ดร.มนัส ชัยจันทร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
กิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, การนำเสนอผลงานวิจัย ในด้านการเกษตรและอาหารแนวใหม่ ด้านพลังงานและวัสดุ ด้านการท่องเที่ยว บริการและการพัฒนาสังคม และด้านการแพทย์และสุขภาพ, การจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช., การจัดแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานและนักวิจัยในพื้นที่โดยเครือข่ายการวิจัยในภูมิภาค, กิจกรรมการประชุมและเสวนาในหัวข้ออันโดดเด่นที่เกี่ยวกับภูมิภาค, การประกวดผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, นิทรรศการ Highlight เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของภูมิภาค, พื้นที่ให้คำปรึกษาความรู้จากงานวิจัย และตลาดนัดสินค้าชุมชน เป็นต้น