นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ก็เป็นองค์กรหนึ่งมุ่งสนับสนุนการฟื้นตัวภารกิจด้านวัฒนธรรมของไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สวธ.ได้คัดเลือก 2 ชุดการแสดงพื้นบ้านที่โดดเด่นของไทยและนำไปร่วมแสดงในงาน World Dance Day 2023 ณ พิพิธภัณฑ์ฟาตาฮิลลา ย่านเมืองเก่า กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ ชุด “เคียนขะม้านารี” และชุด “ผืนไท” โดยน้อง ๆ จากสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชนจำนวน 17 คน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เสน่ห์แห่งศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทย ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก
สำหรับชุดการแสดง “เคียนขะม้านารี” เป็นการนำผ้าขาวม้ามาใช้ประกอบท่ารำ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผ้าขาวม้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยจนเป็นเอกลักษณ์สำคัญ และขณะนี้กำลังเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อจากโขน นวดไทย และโนรา ส่วนชุด “ผืนไท” ประกอบด้วยท่ารำและการแต่งกายของคนไทยในทุกภูมิภาค สื่อให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ความสุข สนุกสนาน ให้กับผู้ชมชาวอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวที่มาชมงาน พร้อมทั้งได้รับเสียงปรบมืออย่างยาวนานด้วยความประทับใจเมื่อจบการแสดง ในงานนอกจากจะมีการแสดงจากประเทศไทยแล้วยังมีการแสดงจากประเทศอื่น ๆ อาทิ มาเลเซีย บรูไน อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย เข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ สวธ.ยังได้เข้าร่วมงานเทศกาลวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติในต่างประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ CIOFF® (International Council of Organizations of Folklore Festivals and Folk Arts) โดยส่งคณะนักแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย จากคณะครุศาสตร์ สาขานาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เข้าร่วมแสดงในงานเทศกาล 55th International Culture Festival KARAISKAKEIA 2023 ระหว่างวันที่ 19 – 25 มิถุนายน 2566 ณ เมือง Karditsa สาธารณรัฐเฮลเลนิก (ประเทศกรีซ) ซึ่งจัดโดย สหพันธ์สมาคมวัฒนธรรมแห่งเมือง Karditsa ร่วมกับหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นของกรีซ คณะนักแสดง ฯ ได้เผยแพร่นาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นศิลปะแห่งการละคร ฟ้อนรำและดนตรีอันงดงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมชาวกรีกและชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงาน นอกจากคณะนักแสดงจากประเทศกรีซและไทยแล้ว ยังมีคณะนักแสดงจากยูเครน บัลแกเรีย และเซอร์เบีย เข้าร่วมด้วย
และในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่ใกล้จะถึงนี้ สวธ.มีกำหนดไว้อีก 2 รายการ โดยจะนำคณะนักแสดงจากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ เข้าร่วมแสดงในงาน 6th International Folk Festival POLKA 2023 ระหว่างวันที่ 4 – 10 กรกฎาคม 2566 ณ เมือง Bychlew สาธารณรัฐโปแลนด์ เน้นการแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะโปงลางไปแสดงและเผยแพร่ในระดับนานาชาติ และรายการสุดท้ายของปีงบประมาณ 2566 จะเป็นการนำคณะนักแสดงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาให้เข้าร่วมแสดงในงาน Circuit of Festifolk-Spain in the edition of 2023 ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม –12 กันยายน 2566 ณ ราชอาณาจักรสเปน เน้นการแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคกลางที่งดงามและสนุกสนานของไทย
สวธ.มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแสดงพื้นบ้านของไทยจะได้เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักและสร้างความประทับใจในเวทีโลก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนของไทยได้มีโอกาสแสดงความสามารถและเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในงานเทศกาลระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือการดำเนินงานทางด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและเครือข่ายทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนต่อไป