วันที่ 26 มิถุนายน 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 6/2566 ณ ห้องประชุม 3B ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม โดยในการประชุมมีวาระเสวนาในประเด็นข้อเสนอนโยบายและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และ ข้อเสนอเชิงนโยบายมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไปสู่ New S-Curve Industry
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือความร่วมมือในการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และได้มีโอกาสไปดูงานด้านเกษตรของบริษัท คูโบต้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบเกษตรกรรมในอนาคต ที่เรียกว่า Futuristic Agriculture เป็นเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ประหยัดแรงงาน ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามาช่วยทั้งในแง่ความแม่นยำในการผลิตและการเก็บข้อมูลด้านการเกษตร อาทิ คุณภาพดิน น้ำ ผลผลิต ฯลฯ จึงได้มอบหมายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในการพัฒนาเกษตรกรรมที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง และได้ฝาก สอวช. ร่วมระดมความคิด ระดมสมองในการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปด้วย
“ทุกวันนี้ภาคเอกชนไทยให้ความสนใจในสิ่งที่กระทรวง อว. กำลังทำอยู่หลายเรื่อง บางกลุ่มยังไม่รู้ว่าถ้าเขาจะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นไปได้ จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นฐาน ถ้าหน่วยงานอย่าง สอวช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ เข้าไปหนุนช่วย โดยเฉพาะการเข้าไปช่วย matching fund อาจจะช่วยให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มธุรกิจได้ และอีกประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างคุ้มค่า การทำการเกษตรจึงต้องทำแบบที่ดีทั้งกับชาวนา เกษตรกร และทรัพยากร โดยสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy: CE) มาร่วมคิดร่วมทำได้ ทำให้เกิดเป็นธุรกิจหมุนเวียน หรือ Circular Business เป็นลู่ทางที่เราจะทำงานกันต่อไป” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
ในประเด็นข้อเสนอนโยบายและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) รมว.อว. กล่าวว่า จะต้องคิดเชื่อมโยงข้อมูลให้เห็นถึงความสนใจโดยภาพรวมของโลกต่ออุตสาหกรรมนี้ รวมถึงดูว่าภาคเอกชนให้ความสนใจในการขับเคลื่อนเรื่องนี้หรือไม่ อาจต้องไปทำวิจัยเพิ่มเติม และหารือกับภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางในการเดินหน้าต่อ หรือพูดคุยกับต่างประเทศที่สนใจทำเรื่องนี้ โดยดึงเอาจุดเด่นในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเข้าไปเป็นแรงจูงใจในการทำงานร่วมกัน ขณะที่ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ตรงกับความต้องการของโลก เราต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และในอนาคต มีแนวโน้มที่ต่างชาติจะขยายการผลิตเข้ามาในไทย อยากให้เราใส่แรงเดินหน้าเรื่องนี้เข้าไป และเตรียมเรื่องการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า อาหารแห่งอนาคต หรือ future food นั้น เป็นผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อสุขภาพ มีกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนตอบสนองไปตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในโลกยุคใหม่ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้ง Functional food & ingredients Novel foods ได้แก่ โปรตีนจากพืช โปรตีนทางเลือกจากแมลง โปรตีนจากการเพาะเลี้ยงในห้องแล็ป ออร์กานิกส์ฟู้ด รวมไปถึงอาหารเพื่อโภชนาการเฉพาะบุคคล (Medical & Personalized food) ซึ่งได้รับความนิยมสูง มีอัตราการส่งออกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง สอวช. ได้เร่งส่งเสริม เพื่อให้อาหารแห่งอนาคตเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สร้างโอกาสให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนจากการป้อนวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการ ให้เกิดอาหารกลุ่มใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึง อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีโมเดลที่ทำอยู่แล้ว คือการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ และแบตเตอรี่แพคที่นำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่เซลล์ มีความต้องการจากตลาดสูง แต่ต้นทุนและความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงควรนำเข้าจากจีนมาประกอบเพื่อไปใช้อุตสาหกรรมที่หลากหลาย และนำมาออกแบบซอฟต์แวร์ดีไซน์ เพื่อให้การใช้แบตเตอรี่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ในขณะที่การผลิตแบตเตอรี่แพค แม้มูลค่าจะต่ำกว่า แต่ถ้าผลิตได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก 9 อุตสาหกรรมได้ ก็จะมีอิมแพคสูง
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึง ข้อเสนอแนะทางนโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ว่า ต้องกำหนดให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เป็นอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยขยายขอบเขตการนำแบตเตอรี่ไปใช้งานและพัฒนาในแอปพลิเคชัน ครอบคลุม 7 อุตสาหกรรมหลัก ทั้งการสนับสนุนการลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าแบตเตอรี่เซลล์ต่ำที่สุดในช่วง 3 ปีแรก ให้กับผู้ประกอบการเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แพค สนับสนุนการจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่แพคในประเทศไทย สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ความร่วมมือกับต่างประเทศด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี แบตเตอรี่และการให้บริการ เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้แพคแบตเตอรี่ให้แก่ผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ สวอช. เองก็จะเร่งพัฒนาบุคลากรทักษะสูงเพื่อเตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต่อไปด้วย