ดร. วราภรณ์ เต็มแก้ว ผู้อำนวยการกองวิชาบริหารการบิน เป็นตัวแทนสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ร่วมชมการแสดงสาธิตในพิธีปิดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย โดยมี พลโทกันตพจน์ เศรษฐารัศมี รองเสนาธิการทหารบก เป็นประธานในพิธีการฝึกซ้อมฯ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ทภ.2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย ครั้งที่ 43 ประจำปี 2566 หรือ SAREX 2023 เป็นการฝึกแบบบูรณาการร่วมกันจาก 26 หน่วยงานหลัก และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีความเข้าใจในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขั้นต้น การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บทางรถยนต์และอากาศยาน การพิทักษ์พื้นที่เกิดเหตุ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ประสานสอดคล้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทำการแสดงสาธิตการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย โดยมีวัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมฯ ดังนี้ 1) เพื่อทดสอบการปฏิบัติตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 2) เพื่อบูรณษการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานด้วยความสอดคล้องตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564
สำหรับขอบเขตและห้วงเวลาของการฝึกซ้อม ประกอบด้วย
1. การอบรมทางวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย แห่งชาติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีความเข้าใจในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ในโอกาสนี้ ดร.วราภรณ์ เต็มแก้ว ได้เป็นผู้แทนเข้าร่วมบรรยายหัวข้อ มาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยในนามสถาบันการบินพลเรือน
2. การฝึกแลกเปลี่ยนและการฝึกสร้างความคุ้นเคย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกได้แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ในด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขั้นต้น การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บทางอากาศและทางภาคพื้นโดยรถยนต์ รวมทั้งการพิทักษ์พื้นที่เกิดเหตุและการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เป็นต้น
3. การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะแผนที่ (Table Top Exercise :TTX) ตามสถานการณ์สมมุติ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมฯ ได้บูรณาการวางแผน การบริหารจัดการทรัพยากร บริภัณฑ์ ในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานสากล
4. การฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยเต็มรูปแบบ (Field Training Exercise : FTX) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมฯ เต็มรูปแบบ บนสถานการณ์สมมุติที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งทุกหน่วยงานได้ร่วมปฏิบัติการเป็นไปตามมาตรฐานเวลาการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย พ.ศ. 2564 ได้แก่ (1) การรับแจ้งข่าวอากาศยานประสบภัยและประเมินค่าข่าว (2) การประสานงานและแจ้งให้หน่วยค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยดำเนินการเข้าช่วยเหลือ (3) การปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย (4) การรายงานปฏิบัติการมายังกองอำนวยการ/ศูนย์ประสานงานฯ (5) การยกเลิกการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องประสานสอดคล้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ คณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (กชย.) ได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 มอบให้สถาบันการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานประเมินผลการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2566 (SAREX 2023) เพื่อประเมินความพร้อมและประสิทธิภาพของระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และเพื่อให้ทราบถึงแนวทางสำหรับการพัฒนาระบบการค้นหาฯ ของประเทศ ซึ่ง สบพ. ได้มอบหมายให้ดร. วราภรณ์ เต็มแก้ว ผู้อำนวยการกองวิชาบริหารการบิน เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการประเมินผลดังกล่าว เพื่อนำผลไปสู่การวางแผนการจัดการฝึกซ้อมฯ ในครั้งต่อไป อีกทั้งสถาบันการบินพลเรือน ยังได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 14 -16 มิถุนายน 2566 ณ สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแนะแนวหลักสูตรทางด้านการบินและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรในระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย (SAR System) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย