แพทย์แผนไทยห่วงสุขภาพเกษตรกร ช่วงทำการเพาะปลูกอาจได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืช แนะนำ ภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้รางจืดขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้น
นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี พ.ศ. 2544 – 2560 มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีรวม 34,221 ราย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 49 ราย โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยปีละ 2,013 ราย นอกจากนี้ จากรายงานประจำปี 2561 สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แล้วพบว่า ปี 2561 มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีผลเสี่ยงและไม่ปลอดภัยร้อยละ 40.99 ซึ่งคิดเป็น 342,737 ราย จากจำนวนทั้งหมด 836,118 ราย
ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรมักเร่งทำการเกษตรเพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเจริญเติบโต จึงมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต อีกทั้ง มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสารเคมีเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายและเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางการหายใจ ทางปาก ทางผิวหนัง สำหรับอาการและความรุนแรงนั้น จะขึ้นอยู่กับระดับสารพิษที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหรือ สารกำจัดศัตรูพืช ก็ควรที่จะป้องกันร่างกายตนเอง โดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ควรตรวจเช็กอุปกรณ์การฉีดพ่นให้อยู่ในสภาพดี หากหัวฉีดอุดตัน ห้ามใช้ปากเป่า แต่ให้ถอดหัวฉีดออกมาทำความสะอาดโดยแช่ในน้ำ ห้ามกินอาหาร น้ำ หรือสูบบุหรี่ขณะผสมสารเคมี กรณีสัมผัสสารเคมีทางผิวหนัง ให้ชำระล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ อย่างน้อย 15 นาที รีบอาบน้ำฟอกสบู่เปลี่ยนเสื้อผ้า และไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่ลมแรงหรือฝนตก และยืนให้อยู่เหนือลมเสมอ
ส่วนศาสตร์ทางด้านการแพทย์แผนไทยมีการนำสมุนไพรรางจืด มาใช้ในการขับสารพิษจากยาฆ่าแมลงหรือ สารกำจัดศัตรูพืช วิธีการ เพียงใช้ใบสด 5-7 ใบ คั้นกับน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) รับประทานก่อนอาหาร 3 เวลาต่อเนื่อง 7 วัน ที่แนะนำให้ใช้เพียง 7 วัน เพราะรางจืดมีฤทธิ์เย็นเมื่อกินติดต่อกันอาจทำให้ระบบในร่างกายเสียสมดุลได้ โดยโรงพยาบาลในประเทศไทยหลายแห่งได้มีการศึกษาและนำมาใช้จริงกับเกษตรกลุ่มเสี่ยงที่ใช้สารเคมี ทำให้พบว่า ภูมิปัญญาดังกล่าวนำมาใช้ ควบคู่ กับการป้องกันตัวเองจากสารเคมี นับเป็นการบรรเทาอาการจากสารพิษดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การป้องกันตัวเองเบื้องต้นก่อนสัมผัสสารเคมีทางร่างกายก็ยังต้องทำเป็นลำดับแรก
ปัจจุบันรางจืดถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปแบบชาชง มีสรรพคุณถอนพิษเบื่อเมา ขนาดและวิธีใช้ รับประทานครั้งละ 2 – 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่นอย่างต่อเนื่อง เพราะรางจืดอาจเร่ง การขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิผลของยาลดลง หากรับประทานยาอื่นอยู่ ควรรับประทานยารางจืดหลังจากรับประทานยาอื่นแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หากมีข้อสงสัยการใช้รางจืดติดต่อสอบถามได้ตามโรงพยาบาลที่มี การให้บริการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ