แพทย์ผิวหนังเตือนประชาชนระวังแมงมุมมีพิษกัด

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชนหากถูกแมงมุมมีพิษกัด ให้รีบทำความสะอาดและประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด ห้ามประคบร้อนโดยเด็ดขาดเพราะพิษจะกระจาย ถ้ามีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์พร้อมนำแมงมุมไปด้วย

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าว ประชาชนถูกแมงมุมมีพิษกัดบริเวณโคนนิ้วชี้ข้างขวา ซึ่งพิษทำให้แผลบวมไหม้เป็นสีดำ มีอาการปวดตามข้อกระดูกและทั่วร่างกาย  และมีไข้ต่อเนื่อง  จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า  ผู้ป่วยที่ถูกแมงมุมมีพิษกัด จะมีอาการทางผิวหนังเริ่มจากปวดเล็กน้อย เริ่มรุนแรงขึ้น และปวดต่อเนื่องร่วมสัปดาห์  สำหรับแมงมุมพิษที่มีอันตรายและควรระมัดระวัง จัดแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) โดยลักษณะที่เด่นชัดของแมงมุมมีพิษให้สังเกตตรงบริเวณท้องจะป่องขึ้นมาเป็นพิเศษ  ซึ่งแตกต่างจากแมงมุมที่เจอตามบ้านทั่วไป พิษของแมงมุมสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียนไข้ หรือ ปวดศีรษะ ในบางรายอาจรุนแรงมาก เช่น ไตวาย หรือ ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันหลังโดนกัด

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนทำให้สัตว์จำพวกแมลงมีพิษต่างๆ  มักจะหลบซ่อนเข้ามาตามบ้านเรือน  จึงควรทำความสะอาดและตรวจสอบเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ ตรวจสอบที่นอนก่อนนอนเสมอ สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อถูกแมงมุมมีพิษกัด  ให้รีบทำความสะอาดและประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ไม่ควรประคบร้อนที่บริเวณที่ถูกกัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้พิษแมงมุมกระจาย  หากมีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หรือปวดศีรษะ ให้รีบไปโรงพยาบาล โดยนำแมงมุมไปด้วย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่มหรือยาต้านพิษ เนื่องจากพิษแมงมุมในประเทศไทยไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

**********************************

#สถาบันโรคผิวหนัง  #กรมการแพทย์  #แพทย์ผิวหนังเตือนประชาชนระวังแมงมุมมีพิษกัด