สวธ.สร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรม” 25 จังหวัด ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐิจสร้างสรรค์

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานให้เครือข่ายวัฒนธรรมภาคกลางและตะวันออก 25 จัวหวัด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรม” นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวรายงาน ในการนี้ นายการุณ สุทธิภูล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยวัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรม เลขานุการสภาวัฒนธรรมจังหวัด ภาคกลาง-ตะวันออก 25 จังหวัด และเครือข่ายรวม 96 คนเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ณ โรงแรมสองพันบุรี เมื่อวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดสุพรรณบุรี

นายโกวิท ได้กล่าวชื่นชมประธานสภาวัฒนธรรม กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ได้ดำเนินงานวัฒนธรรมร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้วยดี การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ เป็นเวทีให้สภาวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภาคประชาชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผนึกกำลังเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมงานวัฒนธรรมร่วมกัน อันเป็นไปตามปรัชญาที่ว่า วัฒนธรรมเป็นของประชาชน ดังนั้น การดำเนินงานวัฒนธรรมให้บรรลุผลต้องให้ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีความพร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตนเพื่อภารกิจพัฒนางานวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง ผาสุก ของประชาชน

ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ส่งเสริม สนับสนุน มรดกภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิด Soft Power แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้ง เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น สร้างให้เกิดเครือข่ายทางวัฒนธรรม อันเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมจากทุกภาคส่วนแบบมีส่วนร่วมบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

ในครั้งนี้ สภาวัฒนธรรมพร้อมเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการอภิปราย เรื่อง การบูรณาการขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วยการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน โดยนางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นางสาวนิษฐกานต์ คุณวัชระกิจ วัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี นายการุณ สุทธิภูล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินรายการ โดย นายชาคริต สิทธิฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

และการประชุมวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ยังได้รับความรู้ในการบรรยาย เรื่อง การบริหารจัดการสภาวัฒนธรรม ตาม พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดย นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ต่อด้วยการบรรยายเรื่อง ดนตรี 5 สายธาร เมืองสุพรรณบุรี โดย นายสมเกียรติ อำนวยสุวรรณ รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ เมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) จากนั้น ได้รับฟังการบรรยาย “บทบาทสภาวัฒนธรรมกับงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” โดย นายชาคริต สิทธิฤทธิ์  ผอ.กลุ่มบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และยังได้เรียนรู้เรื่อง การบริหารจัดการงานวัฒนธรรมโดยภาคชุมชนมีส่วนร่วม จาก นายโสภณ พันธุ ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชน ตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี

ทั้งนี้ ในช่วงค่ำวันที่ 9 มิ.ย. 66 ได้เข้าร่วมพิธีเปิดมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย (ภาคกลางและภาคตะวันออก) “ดนตรีสานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม” ที่กำหนดจัดระหว่าง 9 – 13 มิถุนายน 66 ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิด ร่วมกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลาดวัฒนธรรม สานสัมพันธ์เครือข่ายที่จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประกอบด้วย ตลาดวัฒนธรรมของดีในภูมิภาค กิจกรรมสาธิตการละเล่นพื้นบ้าน  และการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพลิดเพลินการแสดงทางวัฒนธรรมโดยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน และศิลปินนักร้องลูกทุ่ง ชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ สินค้าทางวัฒนธรรม อิ่มอร่อยกับอาหารและขนมขึ้นชื่อหลากหลาย เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

โดยกิจกรรมในวันสุดท้ายวันท่ี่ 10 มิถุนายน 2566 ช่วงเช้า อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้  นายอิสระ  ริ้วตระกูลไพบูลย์  ผู้อำนวยการกองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม นำคณะสภาวัฒนธรรมพร้อมเครือข่ายวัฒนธรรม ภาคกลางและตะวันออก 25 จังหวัด ร่วมกิจกรรมแต่งชุดไทยตักบาตรทางน้ำ “นาวาภิกขาจาร” โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้บริหาร จัวหวัดและประชาชน เข้าร่วม ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร  จังหวัดสุพรรณบุรี

หลังจากนั้น ได้ลงพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และกระตุ้นเศรษฐิจให้ ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน)  โดยคณะสภาวัฒนธรรม  ได้ร่วมทำกิจกรรมแบ่งกลุ่มเข้าฐานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย การทำธูปหลากสีประจำวันเกิด  การทำชาเตยหอม  การทำลูกประคบ  การทำขนมทองพับพลัดถิ่น ของดีขึ้นชื่อ ซึ่งชุมชนมีโปรแกรมแนะนำให้นักท่องเที่ยว อาทิ “ยลวิถีชีวิตวิถีไทยกับสายน้ำ ตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 ย้อนรอยนิราศสุพรรณ สุนทรภู่” โดยชุมชนตำบลบ้านแหลม เป็นชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการ Thailand village Academy ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อปี ๒๕๖๒ อีกด้วย

ทั้งนี้ นายเล็ก นารี นายกสมาคมสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี เป็นตัวแทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและสภาวัฒนธรรมภาคกลางและตะวันออก มอบของที่ระลึกและกล่าวขอบคุณชาวชุมชนบ้านแหลม ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น