ชป.อีสานกลางพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “มูน” ย้ำทุกโครงการฯติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.มหาสารคาม พร้อมสั่งเข้มโครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่อีสานกลาง ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ หากได้รับผลกระทบจาก พายุโซนร้อน “มูน” (MUN)

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมและลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับโครงการชลประทานในพื้นที่ ในวันที่ 4 ก.ค. 62 เพื่อวางแผนเตรียมพร้อมรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “มูน” ตามที่กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมรับมืออิทธิพลของพายุดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนักหรือน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.มหาสารคาม นั้น อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีอยู่ 17 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมารณ 13.50 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 17 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จำนวน 13 แห่ง ที่เหลืออีก 4 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งมีพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ “ลุ่มน้ำยัง” อีกทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม และการตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำยัง จากภาพถ่ายดาวเทียม

ส่วนพื้นที่ของโครงการชลประทานร้อยเอ็ดและโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ นั้น ได้ดำเนินการขุดลอกและกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำในลำน้ำยัง รวมทั้งการซ่อมแซมอาคารชลประทานและแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6 แห่ง ในปีงบประมาณ 2562 นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักร ให้พร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย รวมไปถึงการวางแผนเตรียมความพร้อมเสริมกระสอบทราย การก่อสร้างคันดินเล็ก หรือการก่อสร้างทำนบชั่วคราวปิดช่องทางน้ำ ที่ยังไม่มีอาคารบังคับน้ำ การขุดลอกและกำจัดวัชพืชเพิ่มเติม รวมทั้งการผันน้ำเข้าทุ่งที่ลุ่มต่ำเพื่อตัดยอดน้ำสูงสุดในลำน้ำอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในสังกัด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “มูน” อย่างใกล้ชิด ตลอดจนการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ พร้อมกันได้ให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้าได้อย่างทั่วถึง