เด็กไทยผงาดคว้าชัยในเวทีการแข่งขันประกวดโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก REGENERON ISEF 2023

ความสามารถไม่แพ้เด็กชาติใด เยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ คว้ารางวัลที่ 1 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาทพร้อมคว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาสัตวศาสตร์ในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก REGENERON ISEF 2023 ที่สหรัฐฯ เฉือนคู่แข่งจาก 63 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ทีมเยาวชนไทยคว้าอีก 8 รางวัลบนเวทีระดับโลก รวม 10 รางวัล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำทีมเยาวชนไทยสร้างชื่อในเวทีโลกคว้าชัยจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2023 ณ เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดย Society for Science & the Public ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2566 โดยในปีนี้มีนักเรียนกว่า 1,600 คน จาก 63 ประเทศจากทั่วโลก และมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง กระทรวง อว. ได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 14 ทีม มาจาก 2 เวที ได้แก่ ค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2023) ภายใต้การสนับสนุนโดย NSM และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25 (Young Scientist Competition, YSC 2023) โดย สวทช. และมหาวิทยาลัยพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ผลปรากฏว่า ทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ สมาชิกทีมประกอบด้วย นายปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น นายทีปกร แก้วอำดี และนายปัณณธร ศิริ และมีนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวด คือ “รางวัลสุดยอดนักวิทยาสตร์รุ่นเยาว์” Regeneron Young Scientist Awards สนับสนุนโดย Regeneron and Society for Science ซึ่งถือเป็นรางวัลโครงงานนวัตกรรมการวิจัยที่สะท้อนถึงการทำงานอย่างจริงจังของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ในการหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายของโลกในอนาคต โดยใช้แนวที่สร้างสรรค์และแตกต่าง  พร้อมทั้งได้รับเงินรางวัล $50,000 (มูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านบาท) พร้อมคว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $5000 (มูลค่ามากกว่า 170,000 บาท) กับ โครงงาน “การเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใส (Mallada basalis) จากพฤติกรรมการฟักและการเลือกกินอาหาร (Innovation for Optimizing Lacewing Survivability)”

นายปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น ตัวแทนทีมเผยว่า โครงงานนี้เป็นการศึกษาเรื่องราวของแมลงช้างปีกใส เนื่องจากแมลงช้างปีกใสเป็นแมลงที่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้หลากหลายชนิดและพบได้ทั่วโลก แต่เมื่อนำแมลงช้างปีกใสไปใช้จริงมีอัตราการรอดที่ต่ำ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาจึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการฟักไข่และพฤติกรรมการกินอาหารของแมลง และนำมาสร้างบรรจุภัณฑ์การเพิ่มอัตราการรอดของการปล่อยแมลงช้างปีกใส ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใสได้ถึง 6 เท่า และลดการระบาดของเพลี้ยแป้ง ได้ถึง 4 เท่า”

“การพัฒนาโครงงานแมลงช้างปีกใสนี้ ต้องขอขอบคุณเกษตรกรในไร่มันสำปะหลังที่ได้ให้การตอบรับอย่างดียิ่งในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีผ่านการใช้บรรจุภัณฑ์การเพิ่มอัตรารอดของแมลงช้างปีกใสของพวกผม นอกจากนี้พวกผมมีความยินดียิ่งที่ได้ช่วยเหลือผู้ผลิตใบไม้อัดในการทำบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและลดโอกาสการเกิดไฟป่าด้วยการนำเชื้อเพลิงที่เป็นเศษใบไม้มาสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญขอขอบพระคุณอาจารย์ รวมถึงบุคลากรของสมาคมวิทย์ฯ และ NSM เป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบโอกาสสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้” ซึ่งโครงงานนี้ได้รับคัดเลือกจากการประกวดในเวทีค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2565 (Thai Young Scientist Festival (TYSF) ครั้งที่ 18

ทั้งนี้ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “ปีนี้ NSM ร่วมกับ สมาคมวิทย์ฯ ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 ทีม จากเวทีค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thai Young Scientist Festival, TYSF 2023)  เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ซึ่งปีนี้ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จด้วยผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด ขอขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ คว้ารางวัลอันทรงเกียรติมาให้คนไทยได้ชื่นชม และหวังว่าทุกผลงานจะนำไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวว่า “สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่อง สร้างขุมกำลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างขุมกำลังในด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ผ่านการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition, YSC) ที่ สวทช. สนับสนุนตั้งแต่ปี 2542 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ จัดประกวดโครงงานในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 9 สาขา ให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 6 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

“การเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือ Regeneron ISEF 2023 ถือเป็นเวทีที่มีความสำคัญด้านการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก เพื่อส่งเสริมความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นอีกหนึ่งเวทีการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และสนุกไปกับการทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ซึ่งเด็กและเยาวชนของชาติเป็นบุคคลที่มีบทบาทและส่วนสำคัญอย่างยิ่ง การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานและกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการส่งเสริมให้เยาวชนมีประสบการณ์จากการแข่งขันบนเวทีโลกจะเป็นกุญแจสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนของประเทศ”

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดี “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 14 ทีม ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลกในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในการแข่งขันในเวทีระดับโลก หวังว่าเยาวชนทุกคนจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการประกวดในครั้งนี้ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ต่อไป”

นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัล Grand Awards และSpecial Awards มาครอบครองอีกหลากหลายสาขา ได้แก่

1.โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $2000 กับ โครงการวิธีการใหม่ในการตรวจสอบการติดเชื้อโรคเพบริน (Pebrine Disease Detection Using Silkworm Phototaxis) โดยมีสมาชิก คือ นายธนวิชญ์ น้ำใจดี, นายพณทรรศน์ ชัยประการ, นางสาวกัญญาริณทร์ ศรีวิชัย และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

2.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล $2,000 กับ การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมป่าหลังเกิดไฟป่าเลียนแบบโครงสร้างของผลน้อยหน่าเครือ (Kadsura coccinea) (A Novel Seed Delivery System for Effective Reforestation) โดยมีสมาชิก คือนายจิรพนธ์ เส็งหนองแบน, นายนฤพัฒน์ ยาใจ, นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ และนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

3.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $1000 กับ โครงงาน “วิธีการยั่งยืนในการควบคุมปัญหาการเป็นศัตรูพืชของหนอนด้วงสาคู” (Approach to Control Red Palm Weevil Pests) นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development (USAID) ในสาขา Agriculture and Food Security ได้รับเงินรางวัล $3000 อีกด้วย โดยมีสมาชิก คือ นายสัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์, นายธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ และนางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

4.โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 3 สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $1000 กับ โครงงานการศึกษาแบบจาลองผลของสนามแม่เหล็กต่อพายุทรงหลายเหลี่ยมบนดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์โดยหลักความไม่เสถียรเชิงอุทกพลศาสตร์ (Study of Polygonal Cyclones on Jupiter and Saturn)  โดยมีสมาชิก คือ นางสาวจินต์จุฑา ปริปุรณะ, นายปวริศ พานิชกุล, นางสาวอมาดา ภานุมนต์วาที และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ และนายศรัณย์ นวลจีน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

5.โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $500 กับ โครงการ PROSynMOGN: การปรับปรุง Graph Neural Networks สำหรับโมเลกุลเพื่อทำนายการเสริมฤทธิ์ของยาคู่ผสมสำหรับรักษาโรคมะเร็งที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลการแสดงออกของโปรตีน โดยมีสมาชิก คือ นายติสรณ์ ณ พัทลุง, นายเมธิน โฆษิตชุติมา, นายกิตติพัศ พงศ์อรุโณทัย และดร.ธนศานต์ นิลสุ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และนายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ สถาบันวิทยสิริเมธี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

6.โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต พร้อมเงินรางวัล $500 กับ โครงงาน ออร่า “ผู้ช่วยป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูข้อเสื่อม” (O-RA: Osteoarthritis Rehabilitation Assistant) นอกจากนี้โครงการนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน : Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา: Life Sciences Discipline ได้รับเงินรางวัล $1,500 อีกด้วย โดยมีสมาชิก คือ นางสาวนภัสชล อินทะพันธุ์, นายแก้วกล้า สร้อยกาบแก้ว, นายกฤตภาส ตระกูลพัว และนายกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา