โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG

19 พฤษภาคม 2566ดร.ปิยนุช วุฒิสอน  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการพัฒนาสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งในระดับประเทศและใน 2 จังหวัดนำร่อง (จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดราชบุรี) รวมทั้งการพัฒนาระบบต้นแบบ STAT Intelligence ที่นำเสนอ Dashboard แสดงสถานการณ์ข้อมูลประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG

โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ติดตามข้อมูล SDG Action กับผลลัพธ์ และรายงานด้วยว่าการผลักดัน BCG ได้ผลต่อค่าเป้าหมายของ SDG ของไทยอย่างไร ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการฯ เพื่อจัดทำ (ร่าง) บัญชีสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

การติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ มี 2 ระดับ คือ

1.  ระดับประเทศ พบว่า ภาพรวมมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยปรับลดลง จาก 3.5 ล้านล้านบาท ในปี 2561 เหลือ 2.6 ล้านล้านบาท ในปี 2564  คนไทย 8.5 ล้านคนมีฐานะดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวที่สูงกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ระหว่างปี 2562 – 2564 และความเหลื่อมล้ำลดลง โดยความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของกลุ่มประชากรที่มีฐานะเศรษฐกิจสูงสุด (10%) ต่อรายจ่าย ต่อคนต่อเดือนของกลุ่มที่มีฐานะต่ำสุด (40%) ปรับลดลงจาก 6.15 เท่าในปี 2560 เหลือ 5.68 เท่าในปี 2564 จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสม ปี 2564 – 2565 รวมกันกว่า 6 แสนคน อย่างไรก็ตาม ยังพบประเด็นที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากร การเพิ่มพื้นที่ป่า การลดการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ

2. ระดับจังหวัด (2 จังหวัดนำร่อง) พบว่า จังหวัดจันทบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงถึง 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) และจังหวัดราชบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG ประมาณ 30% ของ GPP ในภาพรวม ทั้งสองจังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่สำคัญและต้องได้พัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะในประเด็นทรัพยากรน้ำ

สำหรับการพัฒนาสินค้าเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG Modelของจังหวัด ประกอบไปด้วย สินค้าเป้าหมายของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งก้ามกราม และสินค้าเป้าหมายของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และกุ้งขาว พบว่า สินค้าเป้าหมายของทั้งสองจังหวัดมีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนสูงต่อผลิตภัณฑ์จังหวัด เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GPP ภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือ การพึ่งพาตลาดส่งออกโดยเฉพาะจีนที่อาจมีความผันผวนของราคาเหมือนกรณีของยางพารา รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อเป้าหมาย Zero Waste เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนเปลือกสูงถึง 75% ของน้ำหนักผลสด ซึ่งในส่วนนี้ต้องการนวัตกรรมมาแก้ปัญหา หรือการบริหารจัดการน้ำซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การบริหารจัดการปริมาณน้ำ ป้องกันปัญหา
การแย่งชิงน้ำในช่วงฤดูแล้ง

ที่มา: เว็บไซต์ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายโมเดล BCG (https://bcg.dataforthai.in.th/stat-intelligence/)

ผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นผลจากความร่วมมือเป็นอย่างดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรผู้ทำงานด้านข้อมูล รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาข้อมูลสถิติทางการให้เกิดการแบ่งปันและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันผ่านระบบ GD Catalog ทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมแห่งการบริหารจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นอันเป็นฐานรากที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

ร่วมสร้างอนาคตไทย ร่วมใจให้ข้อมูลกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ