วธ.เผยโมเดลส่งเสริมคุณธรรม พร้อมขับเคลื่อนแผนคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 เน้น “คุณธรรมจับต้องได้” 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” 

เมื่อเร็วๆ นี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ภาคเหนือ ณ โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ว่า จากการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการส่งเสริมคุณธรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ “แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)” มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีเป้าหมายที่เน้น “คุณธรรมจับต้องได้” คือ “คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อน การมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และประเทศไทยปลอดทุจริตและประพฤติมิชอบ พลิกโฉมประเทศไทยก้าวสู่สังคมคุณธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 นี้ ได้เพิ่มเติมคุณธรรมที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทยให้ครอบคลุมเป็น 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู ที่คนไทยทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่าย และเป้าหมายสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2570 คือ คนไทยทุกช่วงวัยมีพฤติกรรมที่สะท้อนคุณธรรม 5 ประการเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมไทยที่ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐมีพฤติกรรมความซื่อสัตย์สุจริต โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการบริหารงาน มีค่าการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6,418 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันจำนวน 5,855 แห่ง รวมไปถึงยกระดับและขยายผลชุมชน องค์กร อำเภอ จังหวัดคุณธรรม ทั่วประเทศไปสู่ต้นแบบอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าขยายเครือข่ายคุณธรรมไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมรวมกว่า 4,300 แห่ง

ปลัด วธ. กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะที่ประเด็นของสังคมไทยที่เผชิญวิกฤตความเสื่อมถอยด้านคุณธรรม โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก แม้จะมีข้อดีที่ช่วยให้เราสามารถย่อโลกอันกว้างใหญ่ให้อยู่ในมือ แต่นั่นก็ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ระหว่างคนยุคก่อน (Gen X – Gen Y) กับคนยุคใหม่ (Gen Z) ซึ่งเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ มือถือ อินเตอร์เน็ต เข้าถึงสื่อสาธารณะออนไลน์ได้ง่าย สื่อเหล่านี้ จึงมีอิทธิพลต่อระบบความคิด และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ทำให้บางคนขาดการกล่อมเกลาทางสังคมในช่วงเยาว์วัย อาจนำไปสู่ปัญหาที่แสดงความอ่อนแอของสังคมไทย เช่น การทะเลาะวิวาท ความขัดแย้ง ปัญหาครอบครัว และปัญหาทุจริตคอรัปชัน เป็นต้น คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์คุณธรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในการเฝ้าระวังและต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยด้วยทุนทางสังคม ภายในประเทศที่มีอยู่ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นสถาบันหลักเชื่อมโยงคนไทยไว้ด้วยกัน และชุมชนท้องถิ่นที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองไปพร้อมกับการดำเนินชีวิต ด้วยหลักศาสนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมได้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน