DITP นำทัพนักออกแบบไทยบุกมิลานดีไซน์วีค จัดนิทรรศการ Slow Hand Design 2023

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ นำทัพนักออกแบบเข้าร่วมนิทรรศการ Slow Hand Design ในงาน Milan Design Week 2023 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี นำเสนอผลงานของ นักออกแบบไทย 33 แบรนด์ ที่มีความโดดเด่นด้านการใช้วัสดุเพื่อความยั่งยืนสอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และเทรนด์งานออกแบบโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “งาน Milan Design Week นับเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของผู้คนในแวดวงการออกแบบทั่วโลก ทั้งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน ไลฟ์สไตล์ และนวัตกรรมการออกแบบ รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ จะมารวมตัวกันที่มิลานอย่างคึกคัก เพื่ออัพเดตเทรนด์สินค้าและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการออกแบบจากทั่วโลก รวมถึงการแสดงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในอนาคต โดย DITP ได้นำสินค้าไทยเข้าร่วมงาน Milan Design Week มาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 ดำเนินงานโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ภายใต้ชื่อนิทรรศการ Slow Hand Design เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพและสร้างการจดจำสินค้าไทยในเวทีการออกแบบระดับโลกอย่างต่อเนื่อง”

“ในช่วงแรก ช่วงปี 2554 – 2559 เนื้อหาของนิทรรศการจะเน้นนำเสนอจุดเด่นของงานออกแบบไทยที่ใช้ความประณีตของฝีมือ งานหัตถกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมมีการพัฒนาอัตลักษณ์ไทยสู่ความเป็นสากล ต่อมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาเน้นนำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่มีแนวคิด BCG Economy และสินค้าที่มีแนวคิดการออกแบบมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) เพื่อเผยแพร่ศักยภาพและสร้างการยอมรับในสินค้าไทย ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าไทยที่มีการออกแบบดีเพื่อนำไปสู่โอกาสทางการค้าในระดับสากล เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกอบการและ นักออกแบบไทยได้ตื่นตัวกับนโยบายส่งเสริมสินค้า BCG ของกระทรวงพาณิชย์ เกิดการค้นคว้าทดลอง พัฒนานวัตกรรมวัสดุและสินค้าได้อย่างน่าสนใจ มีมาตรฐานการออกแบบที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีการคัดสรรผลงานที่ได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมหรือรางวัล DEmark รางวัล PM Award รวมทั้งผลงานนักออกแบบรุ่นใหม่จากโครงการ Designers’ Room & Talent Thai นำมาจัดแสดงในงาน” นายภูสิตกล่าว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรวมถึงอุตสาหกรรมการออกแบบของไทยด้วย “ในช่วงการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิต และนักออกแบบไทยได้ตระหนักถึงข้อได้เปรียบในการมีกำลังการผลิตขนาดเล็ก ซึ่งทำให้มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวได้เร็ว ในช่วงล็อคดาวน์พบว่าหลายๆ แบรนด์มีการทดลอง พัฒนาวัสดุใหม่ๆ จากเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งกระบวนการผลิตโดยช่างฝีมือแทนเครื่องจักร ซึ่งเป็นจุดเด่นของสินค้ากลุ่มหัตถอุตสาหกรรมจากประเทศไทย ทำให้สามารถพัฒนาตัวอย่างสินค้าได้รวดเร็ว มีการนำการออกแบบหมุนเวียน Circular Design มาใช้รวมทั้งกระบวนการจัดการขยะและการเลือกใช้วัสดุที่ถูกนำมารีไซเคิลและอัพไซเคิล เป็นสินค้าอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก มีรูปแบบน่าสนใจและมีกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่เคย” นายภูสิตกล่าวเสริม

นิทรรศการ Slow Hand Design 2023 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Not A Virgin – materials through Thailand’s innovative designs that sustain the global environment” จัดแสดงระหว่างวันที่ 18 – 23 เมษายน 2566 ที่ Superstudio Piu ในย่านTortona ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี รวบรวมผลงานการออกแบบ ที่โดดเด่นเรื่องกระบวนการออกแบบหมุนเวียน มีการใช้วัสดุ เพื่อความยั่งยืน สอดรับ กับแนวคิด BCG Economy Model โดยมี ทั้งสินค้า เฟอร์นิเจอร์ สินค้าไลฟ์สไตล์และวัสดุตกแต่งบ้าน มาจัดแสดงโดยจำลองรูปแบบการใช้ชีวิตและการตกแต่งที่อยู่อาศัยในอนาคตที่วัสดุในการผลิตสินค้าทั้งหมดล้วนทำมาจากวัสดุรีไซเคิลและอัพไซเคิล ซึ่งเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมต่อเนื่องต่อยอดจากผลตอบรับจากนิทรรศการ

ปีที่ผ่านมาที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามโดยผู้เข้าชมงานให้ความสนใจวัสดุกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ ตลอดระยะเวลาที่จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 18 – 23 เมษายน 2566 มีผู้เข้าชมงานกว่า 8,025 ราย โดยผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่เป็นนักออกแบบ สถาปนิก อินทีเรีย และตัวแทนจำหน่ายสินค้าแนวดีไซน์และสื่อมวลชนจากทั่วโลก โดยตัวอย่างผลงานแบรนด์ไทยที่ได้รับความสนใจ เช่น

– วัสดุ Vegan Leather จากแบรนด์ BRAVESHOES ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นและ ไลฟ์สไตล์ให้เป็น Circular Economy ใช้หลักการ BCG แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด โดยเลือกใช้วัสดุจากขยะทางการเกษตร เช่น เปลือกมะนาว และเปลือกกล้วยที่มีนวัตกรรมการผลิต โดยมีชาวบ้านจากชุมชนต่างๆในหลายจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มและลดขยะทางการเกษตรในประเทศไทย ได้รับความสนใจจาก KARIM RASHID STUDIO เพื่อนำไปเป็นวัสดุหุ้มเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ตัวVegan Leather วัสดุที่ใช้ในการผลิตรองเท้ายังได้รับความสนใจจากนักออกแบบแฟชั่นในเมืองมิลานเป็นอย่างมาก

– วัสดุ recycle yarn แบรนด์ aibelle ได้รับความสนใจจากทีมดีไซเนอร์ จาก Martin Margiela เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า

– สินค้าไลฟ์สไตล์จาก แบรนด์ Sonite ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร แกลบข้าว ใยมะพร้าว กะลามะพร้าว และแผ่นบุผนังช่วยดูดซับเสียงผลิตจากผักตบชวา ได้รับความสนใจจากนักออกแบบ สถาปนิก ภายในงานเป็นอย่างมากมีความต้องการอยากร่วมมือ สั่งซื้อตลอดช่วงที่จัดแสดง

– ผลงาน textile จาก DEESAWAT x ausara surface and textile ได้รับความสนใจจากนักออกแบบเครื่องจาก bulgari เพื่อพัฒนาเป็นเครื่องประดับ

– แบรนด์ moRE ที่มีการวิจัยและพัฒนาวัสดุ ตั้งแต่เศษขยะจากครัวเรือน อาทิ หลอด ฝาขวดน้ำ อลูมิเนียมฟอยด์กล่อง ไปจนถึงของเสียจากการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร อย่างเยื่อกาแฟ ใบอ้อย พัฒนาเป็นSustainable material วัสดุใหม่สำหรับเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจจากสถาปนิกและนักออกแบบในยุโรปเป็นอย่างมาก

– ผลงาน พระสติ พระเครื่องทำจากพลาสติกรีไซเคิล และผลงาน RE-rock แบรนด์ Qualy ได้รับความสนใจจาก designer ทีม yamaha Italy ที่สนใจต่อยอดเพื่อพัฒนาไปเป็นโครงรถมอเตอร์ไซต์

– ผลงานแจกันกระดาษจาก 103paper และวัสดุจาก Melt District ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผู้สนใจสามารถติดต่อตามข้อมูลของโครงการได้ที่ creativethailand.net และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169