วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ณ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและหัตถกรรม โดยมีนางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงาน ในการนี้ ได้รับเกียรติจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ
นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน และอาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมงานฯ
นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในการจัดโครงการครั้งนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพแก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรมตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้เพิ่มให้ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 50 กลุ่ม/ราย ซึ่งขับเคลื่อนดำเนินการ 3 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 กรุงเทพมหานคร จุดที่ 2 สงขลา จุดที่ 3 นครราชสีมา ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Coaching) กิจกรรมที่ 2 การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรม ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส อีกทั้งได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และงานหัตถกรรม โดยการสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในทุกภูมิภาค ให้ร่วมสมัยนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค สร้างวิถีชุมชนที่ยั่งยืนและสนองตอบต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตลอดจนส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้ดำรงคงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป
นายชูชีพ พงษ์ไชย กล่าวต่อว่า จากการกล่าวรายงานจะเห็นได้ว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผู้ประกอบการ ประเภทผ้า และหัตถกรรม ได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรม ดีไซเนอร์ นักออกแบบที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ตลอดทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาร่วมกันให้คำแนะนำ ปรึกษา เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผู้ประกอบการ สามารถยกระดับ พัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ นำไปต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้วผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน จะได้นำความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ทันสมัยโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ ตลอดจนเข้าถึงช่องทางการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชน ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ต่อไป