วันที่ 28 เมษายน 2566 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ ครบรอบ 160 ปี โดยมี หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์ ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และบุคลากรกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมพิธี ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง มีรากฐานและวิวัฒนาการนับจากห้วงเวลาที่มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรมโยธาธิการ” ใน พ.ศ. 2432 เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาให้ยกฐานะเป็น “กระทรวงโยธาธิการ” ใน พ.ศ. 2435 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงพระปรีชาทางเชิงช่างและศิลปกรรมหลากแขนง ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี และเสนาบดี พระองค์แรก ทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานโยธาธิการและการก่อสร้างทั้งหมดของประเทศ ทำให้ต้องทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งงานช่างแผนเก่าและใหม่ เป็นเหตุให้ทรงได้รับการเรียกจากเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” และพระองค์ทรงได้รับคำสรรเสริญพระเกียรติคุณยกย่องเทิดทูลว่าทรงเป็น “สมเด็จครู” ของงานช่างทั้งปวง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะเจ้ากรมโยธาธิการและเสนาบดี กระทรวงโยธาธิการพระองค์แรก ไม่เพียงแค่มีความเข้าพระทัยในแนวพระราชดำริ เสมือนนั่งอยู่ในดวงใจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเฉพาะด้านศิลปะเท่านั้น แต่ยังทรงมีความเข้าพระทัยในพระราชประสงค์ทั้งด้านการทหาร การบริหารจัดการงานโยธาและมุ่งมั่นดำเนินงานสนองเบื้องพระยุคลบาท แม้จะประสบปัญหาและอุปสรรคนานัปการก็ตาม โดยได้ทรงบุกเบิกงานและกำกับดูแลรับผิดชอบ การวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ สนองพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผลงานการบริหารจัดการ และการวางบรรทัดฐาน ในหลายด้าน รวมทั้งผลงานพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร พระองค์ทรงเริ่มต้นการพัฒนา กรุงเทพฯ ตามแบบสมัยใหม่ โดยวางรากฐานการก่อสร้างถนนและสะพานในกรุงเทพมหานคร ทรงกำหนดให้กรมโยธาธิการมีหน้าที่ออกแบบทำแผนที่ ปักปันที่ดิน กำหนดงบประมาณก่อสร้าง ดำเนินการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักการ รวมถึงการดูแลซ่อมแซม
ซึ่งผลงานสำคัญคือ โครงการถนนอำเภอสำเพ็ง จำนวน 18 สาย เช่น ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ฯลฯ และถนนสาย ที่สำคัญอีกหลายสาย ได้แก่ ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ใน พ.ศ. 2442 ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนเข้าในเขตชุมชนการค้า สถานที่ราชการ ชุมทาง คมนาคมต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจของพระนคร แต่ยังเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง อำนวยประโยชน์ในการไปมาหาสู่ค้าขายกันได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนราษฎรออกไป จากใจกลางเมือง ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างขวางกว่าเดิม ถนนและสะพานยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมความเจริญต่าง ๆ จากเมืองหลวงให้ขยายกว้างออกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ อีกด้วย
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้เป็นต้นแบบในการทำความดีงามเพื่อสังคมส่วนรวม กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้ากรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2550
กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดงานวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง และในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2566 ครบรอบ 160 ปี ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอตั้งจิตมั่นดำเนินตามภารกิจด้านช่าง และศิลปะวิทยาการ ตามแบบอย่าง “สมเด็จครู” ที่ได้ทรงริเริ่มไว้ และขอสืบสานพระปณิธานเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาเมือง ให้มีความงดงามและเจริญรุ่งเรืองสืบไป