กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย จัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน”
วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า กรมอนามัยร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 เพื่อรณรงค์ 4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคี ทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากสถานการณ์มลพิษทางอากาศในประเทศไทย ปี 2561 พบว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังพบเกินมาตรฐานในสารมลพิษบางตัว โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 PM2.5) ก๊าซโอโซน (O3) และก๊าซเบนซีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่มีการเผาในที่โล่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี เขตควบคุมมลพิษ มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยอง และพื้นที่วิกฤตหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ นอกจากนี้ สถานการณ์คุณภาพอากาศภายในอาคารจากการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด เช่น ฟืน ถ่านไม้ และน้ำมันก๊าด เพื่อปรุงอาหารและสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 17.9 ยังมีการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดปรุงประกอบอาหาร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ อาจปล่อยมลพิษที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้
“ ทั้งนี้ ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพเป็นประเด็นที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์มลพิษทางอากาศและสุขภาพ เป็นประเด็นเร่งด่วนในแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560–2564 เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ โดยเป็นความร่วมมือใน 3 ประเด็น คือ 1) ลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิด ผ่านกลไกทางกฎหมายและความร่วมมือแบบสมัครใจ 2) การลดการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ผ่านการเฝ้าระวัง สื่อสาร แจ้งเตือน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผ่านช่องทางต่าง ๆ และ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทั้งเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการศึกษาวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศลดลง ร้อยละ 10 และบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงสาธารณสุข ระยะ 20 ปี คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน อันจะนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กรมอนามัยจึงจำเป็นต้องวางมาตรการเชิงป้องกันร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ภาคการเกษตร ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม สุขภาพ รวมถึงภาคประชาชน เพื่อช่วยกันลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 1 กรกฎาคม 2562