กรมการจัดหางาน จับมือ 2 องค์การระหว่างประเทศ ILO และ IOM ยกระดับศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เดินหน้า Up Skill เจ้าหน้าที่ป้องกันปัญหาค้ามนุษย์
วันที่ 25 เมษายน 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวและการดำเนินการกรณีค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ร่วมกับ คุณแอนนา แองบลอม หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ TRIANGLE in ASEAN จาก ILO และ คุณแม๊กซิมิเลี่ยน พอตเตอร์ หัวหน้าฝ่ายเคลื่อนย้ายแรงงานและการมีส่วนร่วมทางสังคม จาก IOM โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ร่วมการประชุม ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร
นายไพโรจน์ กล่าวว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้การดูแล ช่วยเหลือให้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ซึ่งตั้งอยู่ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี สงขลา ตาก เชียงใหม่ นครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น
เพื่อบริการให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาการทำงานในประเทศไทย รวมทั้งประสานความช่วยเหลือ หรือส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ จัดหาที่พักพิงชั่วคราวระหว่างรอรับการช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาของแรงงานข้ามชาติ
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น ที่มุ่งพัฒนาการดำเนินการของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว รวมถึงการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ในการดำเนินการกรณีค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน การดำเนินการของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) พัฒนาศักยภาพการตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน รวมถึงข้อบ่งชี้ของการบังคับใช้แรงงานสำหรับการก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานและให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับสู่ Tier 1 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการฯทั้ง 30 ท่าน มีกำหนดการประชุม ระหว่างวันที่ 25 – 26 เมษายน 2566 ในประเด็นหารือสำคัญ อาทิ โครงการระบบการรับและส่งต่อกรณีที่ได้รับการร้องเรียนออนไลน์ ข้อมูลของกระบวนการส่งต่อระดับชาติ (NRM) คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (SOP) และแบบตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน ประเด็นความร่วมมือกับภาครัฐ และอุปสรรคในการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เป็นต้น