ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.32 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft และ Alphabet (ซึ่งจะรับรู้ในช่วงหลังตลาดปิดทำการของวันอังคารนี้) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มเงินเฟ้อ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง GDP ในไตรมาสแรก และอัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ยังคงเคลื่อนไหว sideways ปิดตลาด +0.09%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง -0.006% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร/การเงิน (Deutsche Bank, Santander และ UBS) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB อย่างไรก็ดี รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 93.6 จุด ในเดือนเมษายน ก็สะท้อนว่าบรรดาผู้ประกอบการยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งช่วยคลายความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้บ้าง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากสัปดาห์นี้จะไม่มีถ้อยแถลงจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดพยายามประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฟดสาขาชิคาโก้ รวมถึง ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาดัลลัส ก็ออกมาสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ กอปรกับ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง (รอลุ้นผลประกอบการ) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.48%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 101.3 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รับปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ GDP ไตรมาสแรก รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ PCE และผู้เล่นบางส่วนก็อาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น สู่โซนราคาแถว 2,005 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนที่เข้าซื้อสะสมในโซนแนวรับแถว 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจใช้จังหวะการรีบาวด์ดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไรบางส่วน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจให้ความสำคัญกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Microsoft และ Alphabet เป็นหลัก ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในฝั่งสหรัฐฯ จะมี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board รวมถึง ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาริชมอนด์ ซึ่งมีโอกาสที่ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในฝั่งภาคการผลิต ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็อาจลดลงบ้าง หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอตัวลงมากขึ้น

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่ ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้งละ 25bps ราว 3 ครั้ง นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน

และในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอาจกดดันให้ ยอดการส่งออก (Exports) เดือนมีนาคมอาจหดตัวถึง -16%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลงแรงของดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม อนึ่ง ยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวราว -5%y/y ตามราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลราว -1 พันล้านดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดีในระหว่างวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ อาทิ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทอาจยังคงอยู่ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ ควรรอจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งบอนด์ระยะสั้น (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Long THB หรือมองเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนในฝั่งหุ้น แรงขายก็เริ่มลดลงและหากตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง ทำให้โดยรวมเรามองว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบเดิม และอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ที่ประเมินไว้ไปได้ไกล ยกเว้นว่า ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงชัดเจน และ/หรือ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (ดัชนีเงินดอลลาร์หรือ DXY แข็งค่าทะลุ 102.5 จุด)

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์