ชป.ส่งครื่องสูบน้ำ ช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่แปลงอพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตดิตถ์

ฝนที่ตกน้อยด้านเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยมาก ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อราษฎรในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน ร่วมกับ กฟผ. ระดมเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ว่าจากสภาพฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก โดยปัจจุบัน(29 มิ.ย. 62) เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในอ่างฯเพียง 3,710 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ และมีน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 860 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

จากสถานกาณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับอาคารระบายน้ำคลองสิงห์ ซึ่งใช้สำหรับส่งน้ำสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ของราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีจำนวนประมาณ 6,000 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 30,000 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอท่าปลา และอีก 3 ตำบลของอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนสิริกิติ์ ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังไฟฟ้าขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 62 เป็นต้นมา แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของราษฎร

กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ ได้ประสานไปยังส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 3 นำเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งบริเวณจุดสูบน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ต.ท่าปลา อ.ท่าปลา และมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ขนาด 10 นิ้ว เพิ่มเติมอีก 4 เครื่อง เพื่อสูบน้ำไปช่วยเหลือราษฎรและพื้นที่การเกษตรดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2562 หรือจนว่าสถานการณ์ฝนจะเข้าสู่ภาวะฝนตกชุกตามฤดูกาลปกติ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือมีฝนตกน้อยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนให้มากที่สุดด้วย

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

29 มิถุนายน 2562