กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) แนะผู้ประกอบการติดตามพัฒนาการของร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation ของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะนำมาใช้บังคับแทนกฎหมาย Ecodesign Directives ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โดยร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation มีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและจะนำมาใช้บังคับกับสินค้าทั้งที่ผลิตและวางจำหน่ายใน EU ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานและสินค้าอื่นๆ จากไทยไป EU ในอนาคต
นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation เป็นกฎหมายระดับสหภาพฯ ที่มีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิกทั้งหมดโดยตรง ซึ่งต่างจากกฎหมาย Ecodesign Directives ที่ประเทศสมาชิกต้องออกกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกให้สอดคล้องหรือรองรับกับกฎหมาย Ecodesign Directives โดยกฎหมาย Ecodesign Directives จะใช้บังคับกับกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานและเน้นเฉพาะประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในขณะที่ร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation จะครอบคลุมกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานเดิมและกลุ่มสินค้าใหม่ตามแผนงาน เช่น โทรศัพท์มือถือและ tablet รวมถึงกลุ่มสินค้าอื่น และมีการปรับมาตรการเพื่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเงื่อนไขฉลากพลังงาน โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างพัฒนาร่างกฎหมายและเปิดรับฟังความเห็นต่อข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มสินค้าและมาตรการทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย Ecodesign Directives เดิม เพื่อจัดลำดับประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย อาทิ
1. การระบุสินค้าและมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ (1) สินค้าขั้นสุดท้าย 12 รายการ ได้แก่ สิ่งทอและรองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ยาง ผงซักฟอก เตียงและที่นอน น้ำมันหล่อลื่น สีและสารเคลือบเงา ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ของเล่น อวนและเครื่องมือตกปลา และผลิตภัณฑ์อนามัยแบบดูดซับ และสินค้าขั้นกลาง 7 รายการ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ พลาสติกและโพลิเมอร์ กระดาษ เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และแก้ว และ (2) มาตรการทั่วไป 3 รายการ ได้แก่ ความทนทาน ความสามารถในการรีไซเคิล ส่วนประกอบที่รีไซเคิลหลังการบริโภค
2. ลำดับความสำคัญของกลุ่มสินค้าที่ควรดำเนินการก่อน
3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและมาตรการทั่วไปที่ควรกำหนดภายใต้ Ecodesign Regulation
4. การปรับปรุงลักษณะสินค้าจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ระดับของรายละเอียดสินค้าและมาตรการทั่วไปที่ควรกำหนดภายใต้ Ecodesign Regulation
5. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการหมุนเวียนในห่วงโซ่คุณค่า และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามร่างกฎหมาย
ทั้งนี้ EU จะนำความเห็นและข้อมูลดังกล่าวไปหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระยะแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และจะเปิดรับฟังความเห็นและหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกครั้งก่อนการกำหนดกฎสินค้าในช่วงต้นปี 2567 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ที่สนใจสามารถติดตามพัฒนาการของร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องไป EU รวมทั้งร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายผ่านเว็บไซต์ https://ec.europa.eu/info/law/better-regulation/have-your-say/initiatives/13682-New-product-priorities-for-Ecodesigh-for-Sustainable-Products_en ) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 25 เมษายน 2566
สถิติกรมศุลกากรในปี 2565 พบว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยัง EU ทั้งหมดประมาณ 790 พันล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่ต้องมี Ecodesign หรืออาจต้องมี Ecodesign เพื่อวางจำหน่ายใน EU คิดเป็นมูลค่าประมาณ 375 พันล้านบาท เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ร้อยละ 12.83 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ร้อยละ 5.90 ผลิตภัณฑ์ยาง ร้อยละ 5.37 แผงวงจรไฟฟ้า ร้อยละ 4.37 หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ร้อยละ 2.79 เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ร้อยละ 2.68 พลาสติก ร้อยละ 2.34 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 2.30 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมไฟฟ้า ร้อยละ 2.19 เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ร้อยละ 2.04 เครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 2.00 เคมีภัณฑ์ ร้อยละ 1.58 และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ร้อยละ 1.08 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไป EU