มกอช. เดินหน้าส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนใช้ระบบ QR Trace on Cloud และ DGTFarm เพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร ได้มีการใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาทางด้านการค้ามาโดยตลอดและจะยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขดังกล่าว ประกอบกับผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตร

มกอช. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) ที่รองรับการใช้งานสินค้ากลุ่มพืชผัก/ผลไม้ ข้าว ไข่ ประมง ปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐาน มีการนำระบบไปใช้งาน โดยมีการจัดทำ QR Code ติดบนบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภคให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าเกษตร รวมทั้งมีการพัฒนาเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าเกษตรปลอดภัยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง ในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้ขายสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรในตลาดคุณภาพ ได้แก่ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลาดสินค้า GAP และตลาดสินค้า QR Trace และผู้ซื้อสามารถเข้ามาเลือกชมสินค้าเกษตรในตลาดที่สนใจได้ในทันที ทุกที่ ทุกเวลา

อย่างไรก็ดี มกอช. ได้เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องดังกล่าว โดยการจัด “โครงการอบรมการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm)” สำหรับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการผลิต (GMP) ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์  (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm)

ในโอกาสนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โดยเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์แรกที่ได้รับรองให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นอกจากนี้ มีการการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวสังข์หยด เช่น แป้งข้าวสังข์หยด ขนมอบเค้กไข่เค็มลาวา หรืออาหารแปรรูปจากข้าวสังข์หยด และผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอาง

“ทั้งนี้ อยากเชิญชวนเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น”เลขาธิการ มกอช. กล่าว