กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 41

วันที่ 27 มิถุนาย 2562 (ตามเวลาท้องถิ่น) อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบหมายให้นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the 41st Session of the Human Rights Council) ครั้งที่ 41ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2562 ณ สำนักงานสหประชาขาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติฯ เกี่ยวกับการจัดทำและจัดส่งรายงานประเทศ ฉบับที่ 2 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเลขานุการคณะกรรมการสหประชาชาติฯ ได้อธิบายถึงขั้นตอนการยื่นส่งรายงานภายใต้ Simplified Rrporting Procedure การเผยแพร่รายงานประเทศฯ ในระบบของสหประชาชาติ การนำเสนอรายงานประเทศฯ ด้วยวาจา (กำหนดประชุมในปี 2564) ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีพัฒนาการภายหลังจากการส่งรายงานประเทศฯ ขอให้มีการสรุปพัฒนาการ และผลการดำเนินงานนั้นๆ เสนอต่อที่ประชุมใน Opening Statement ในช่วงการนำเสนอรายงานประเทศฯ ด้วยวาจาด้วย

นอกจากนั้น รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในช่วงการนำเสนอผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights) สรุปได้ดังนี้

1. ชื่นชมความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของรัฐบาล ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างเข้มแข็งในการผลักดันวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
2. ขอบคุณรัฐบาลที่เชิญคณะทำงานเยือนไทย และให้การสนับสนุนที่ดีเยี่ยมตลอดการเยือน และยินดีที่การหารือเป็นไปอย่างเปิดเผยและจริงใจ
3. ชื่นชมกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
4. ยินดีที่ได้เห็นความตื่นตัวและความสนใจต่อประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมถึงความตื่นตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจข้ามชาติ และขอบคุณภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม สหภาพแรงงาน และชุมชน ที่ได้หารือและให้ข้อมูลกับคณะทำงานสหประชาชาติฯ
5. ขอให้ไทยรักษาความเป็นผู้นำในภูมิภาคในการผลักดันวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
6. กล่าวถึงประเด็นท้าทายของไทย อาทิ คำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิในการชุมนุมประท้วงโครงการพัฒนาต่าง ๆ การฟ้องดำเนินคดีแบบ strategic lawsuits (SLAPP) กับนักปกป้องสิทธิและแรงงานข้ามชาติ และผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากโครงการการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศ
7. เสนอแนะให้ไทยทำการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน (holistic assessment) สำหรับโครงการขนาดใหญ่ และให้หารือกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ