นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมมีการเคลื่อนไหวที่ผสมผสาน โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น (BofA +2.8%, Wells Fargo +1.9%) ตามความคาดหวังรายงานผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงปลายสัปดาห์นี้
ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวขึ้นได้ (Exxon Mobil +0.7%, Chevron +0.6%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth กลับปรับตัวลงสวนทางหุ้นกลุ่มอื่นๆ (Microsoft -2.3%, Amazon -2.2%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.43% ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าเฟดยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ และผู้เล่นในตลาดจะยิ่งเชื่อในมุมมองดังกล่าว หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ชะลอตัวลงไม่มาก ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของหุ้นแต่ละกลุ่ม ได้ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อ -0.43% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.004%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.62% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน และยอดค้าปลีก ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +4.9%, Anglo American +4.2%) ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาแร่โลหะพื้นฐานและโลหะมีค่าในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Dior +2.0%, LVMH +1.4%) ซึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน ในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงเคลื่อนไหว sideways เช่นเดียวกันกับเงินดอลลาร์ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นแนวต้านของราคาทองคำในระยะสั้น ส่วนโซนแนวรับแรกยังคงเป็นช่วง 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง +0.3%m/m หรือ +0.4%m/m สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร) สอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาพลังงานและภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.2% และ 5.6% ทำให้เรามองว่า เฟดก็ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 5.25% ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหว sideways สอดคล้องกับทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันพุธนี้ (รับรู้ราวช่วง 19.30 น.)
โดยเราประเมินว่า ในระหว่างวันนี้ ค่าเงินบาทจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เนื่องจาก 1) โฟลว์ธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลงมาก ในช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ (แต่ต้องระวังว่า ค่าเงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวผันผวนได้เช่นกัน) 2) นักลงทุนต่างชาติเองก็อาจยังไม่เร่งรีบกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยหรือบอนด์ไทยต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในคืนนี้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน หรือ ออกมาสูงกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่อาจจะยิ่งเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย (ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมราว 67% จาก CME FedWatch Tool) ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็อาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับ ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจน หรือ ออกมาต่ำกว่าคาด (จับตาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI) ผู้เล่นในตลาดจะหันกลับมาเชื่อว่า เฟดคงไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้จากระดับ 5.00% ล่าสุด ทำให้ เรามีโอกาสเห็นทั้ง เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง ส่วนราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้แนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)
ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวอาจกว้างถึง ระดับ 34.00-34.50 บาท/ดอลลาร์ (ในช่วงรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)