ผู้ประกันตน พอใจเข้าถึงการรักษา 5 กลุ่มโรคเสี่ยง ลดการรอคอยการผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยผู้ประกันตนเจ็บป่วย 5 โรคกลุ่มเสี่ยง พึงพอใจเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดและหัตถการ ใน “โครงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” ช่วยลดเวลาเข้าคิวการรอคอยผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการรุนแรง สถานพยาบาล 43 แห่ง ดูแลจนสิ้นสุดการรักษา

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมมุ่งเน้นการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโดยร่วมมือกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด จำนวน 43 แห่ง ดำเนิน “โครงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” นำร่องการรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน ด้วยการผ่าตัดหรือการทำหัตถการใน 5 โรค ได้แก่ ผ่าตัดมะเร็งเต้านม, ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก, ผ่าตัดนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี, หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง, หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยในกลุ่มให้บริการผ่าตัด 3 กลุ่มแรกข้างต้น จะได้รับการผ่าตัดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่แพทย์ประเมินว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ส่วนกลุ่มบริการที่มีอาการฉุกเฉินจะได้รับการทำหัตถการภายใน 6 ชั่วโมง และ 60 นาที เมื่อมาถึงสถานพยาบาล ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่ทำบันทึกข้อตกลงให้บริการได้ที่ เว็บไซต์ www.sso.go.th

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวแนะนำขั้นตอนการเข้ารับบริการ โดยผู้ประกันตนสามารถไปตรวจที่สถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่น และให้สถานพยาบาลตามสิทธิส่งตัว หรือ ผู้ประกันตนนำผลการตรวจและเอกสารที่แพทย์ประเมินว่า มีความจำเป็นต้องผ่าตัดหรือทำหัตถการ ส่งไปยังสถานพยาบาลที่ทำความตกลงให้การรักษากลุ่มโรคนั้น ทั้งนี้ ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลใจ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงจะให้การดูแล จนสิ้นสุดการรักษา กรณีมีการรักษาอื่นนอกเหนือจากการผ่าตัดหรือหัตถการที่กำหนด ผู้ประกันตนสามารถกลับไปรักษาสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลที่ทำความตกลงพร้อมดำเนินการประสานส่งตัวไปสถานพยาบาลตามสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่นให้อีกด้วย

นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า โครงการฯ ดังกล่าวมีระยะดำเนินการวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งผลการดำเนินการ 3 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเข้ารับบริการทำหัตถการจำนวน 1,724 ราย แบ่งเป็น หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด 1,370 ราย ผ่าตัดนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี 118 ราย การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 23 ราย การผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก 207 ราย และหัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 6 ราย “ผู้ประกันตนพึงพอใจ และหมดกังวลเรื่องการเข้ารับการรักษาโรคที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกทั้งลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานอย่างรวดเร็ว และดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข สำนักงานประกันสังคม มีความยินดีให้การสนับสนุนดูแลสุขภาพดีให้กับผู้ประกันตน พร้อมมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายบุญสงค์ กล่าวในตอนท้าย