นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศโดยเฉพาะกำลังแรงงานเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ดังนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานจึงให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ โดยระหว่างปี 2564–2566 ได้เร่งพัฒนาทักษะกำลังแรงงานทั้งแรงงานใหม่ แรงงานในสถานประกอบกิจการ แรงงานนอกระบบ และแรงงานที่เป็นกลุ่มเปราะบาง
เพื่อให้มีทักษะ สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ต่อตนเอง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาสามารถพัฒนากำลังแรงงานได้จำนวน 5,255,833 คน ช่วยให้แรงงานมีงานทำและมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 13,775 บาทต่อคน แรงงานที่ผ่านการพัฒนาทักษะแล้วมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 157,890 บาทต่อคนต่อปี
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและวิเคราะห์ผลการดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาฝีมือแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พบว่าแรงงานที่ผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือกับกรม มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ แรงงานใหม่ร้อยละ 25 มีรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น แรงงานในสถานประกอบกิจการร้อยละ 19 มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานนอกระบบร้อยละ 9 มีรายได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ผ่านการฝึกอบรม
“กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีแนวทางในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ประกอบด้วยกระบวนการฝึกอบรม การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่พนักงานของตนเองภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 การรับรองความรู้ความสามารถ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาแรงงาน เป็นต้น การดำเนินการเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานในส
ถานประกอบกิจการมีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ด้านนายจ้างและสถานประกอบกิจการสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต สินค้าและบริการที่มีคุณภาพจากการที่พนักงานมีทักษะสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอีกด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว