การใช้ไม้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชาวสวีเดน ไม่เพียงมีส่วนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปิน นักเขียน และช่างฝีมือมากมายตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา
ในอดีตสวีเดนมีปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้เช่นกัน จากการใช้ประโยชน์อย่างหนักทั้งด้านการเกษตร สร้างที่อยู่อาศัย แปรรูปเป็นไม้แผ่น ทำเฟอร์นิเจอร์ และรวมทั้งใช้ในการอุตสาหกรรม กระทั่ง พ.ศ.2446 มีการออกพระราชบัญญัติป่าไม้ ควบคุมและบริหารจัดการป่าอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างคน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ของสวีเดนมีขนาดเพิ่มขึ้นจาก 25% เพิ่มเป็น 75% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครองตำแหน่งผู้ส่งออกไม้จากป่าอันดับ 3 ของโลก
นี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจในการผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดนสู่ประเทศไทย ในงาน Redesign Sustainable Forestry: The Innovative Forest Management ที่สถานทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับเอสซีจี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566”
ไม่เพียงความก้าวหน้าในเชิงวิศวกรรมที่สวีเดนเรียนรู้และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกับงานไม้ จากที่เคยติดข้อห้ามก่อสร้างอาคารไม้สูงเกิน 2 ชั้น เมื่อมีการปลดล็อคกฎหมายนี้เปิดกว้างให้กับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ไม้เพื่อประโยชน์ในเชิงก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไร้ขีดจำกัด ส่งผลให้มีอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างจากไม้เพิ่มมากขึ้น เช่น Ekogen โครงการพัฒนาที่ประกอบด้วยแฟลตให้เช่า 75 ห้อง และยังมีที่กำลังพัฒนาอีกรวมกว่า 500 ห้อง นอกจากนี้ยังมีศูนย์วัฒนธรรม Sara ที่สร้างขึ้นใจกลางกรุง Skelleftea ทางตอนเหนือของสวีเดน มีโรงละคร 2 แห่ง มีศูนย์ศิลปะ ห้องสมุด และพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิด
ที่เป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของงานไม้สวีเดนคือ กังหันลมไม้สูง 30 เมตรทางตอนเหนือนอกเมืองโกเทนเบอร์ก โดยใช้ไม้ลามิเนตติดกาว (CLT) มีความแข็งแรงกว่าเหล็กเมื่อเทียบในน้ำหนักเท่ากัน ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเหล็กมาก เป็นต้นแบบของการสร้างกังหันลมในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสูงถึง 110-150 เมตร เนื่องจากไม้มีน้ำหนักเบาจึงสามารถสร้างแยกเป็นชิ้นส่วน ง่ายต่อการขนส่งและติดตั้ง
มร. Aaron Kaplan ผู้อำนวยการ Eco-Innovation Foundation (EIF) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การจัดระบบจัดการป่า ในฐานะที่เป็น Facilitator ในการพัฒนาเมืองสีเขียวให้กับเขตต่างๆ ในสวีเดน ว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาสวีเดนผ่านการลองผิดลองถูกมามาก
สวีเดนเคยถูกวิจารณ์ว่าสนใจแค่ต้นไม้ไม่กี่สายพันธุ์อย่างต้นสน เป็นเรื่องท้าทายมากกับการจะเพิ่มความหลากหลายให้กับป่าในสวีเดนซึ่งธรรมชาติเป็นป่าสน เพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นสีเขียว เป็นเมืองนิเวศที่มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืนเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล เพราะคนที่เป็นเจ้าของป่าคือชาวบ้าน ฉะนั้นการจะเปลี่ยนป่าต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านด้วย
สำหรับการอนุรักษ์ป่าในแบบสวีเดนโมเดลไม่ได้หมายถึงการห้ามตัด แต่การตัดไม้แต่ละต้นต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ป่าเป็นเหมือนทุนที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน เป็นแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากป่าไม้ของสวีเดนเทียบเท่า 10% ของจีดีพีของประเทศ ไม่เพียงการแปรรูปไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ เยื่อกระดาษ เชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ แม้กระทั่งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวฮันนีมูนกลางป่า การเดินป่า เป็นต้น
ทางด้าน คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี บอกว่าสนใจแนวทางการจัดระบบป่าที่สวนทางกับความเชื่อเดิมที่มองว่าการอนุรักษ์ป่าคือห้ามตัดไม้ โดยบอกว่าถ้าจะรักษาป่าอย่าห้ามตัดต้นไม้ เพราะจะทำให้ไม้มีราคาแพงขึ้น ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบตัดป่า
การบริหารจัดการระบบป่าแบบสวีเดน นอกจากปลูกทดแทนแล้ว การตัดต้นไม้แต่ละต้นต้องให้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น เศษไม้ที่เหลือจะผสมกาวกลายเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก เรียกว่าใช้ประโยชน์ได้ทุกเม็ด
ด้วยวิถีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คนสวีเดนผูกพันกับธรรมชาติและป่าเขา ป่าทั้งหมดเป็นของสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงป่าได้ ท่องเที่ยว สร้างบ้านในป่า เก็บผลผลิตจากป่าได้ แต่ต้องกระทำอย่างเหมาะสม
คุณนิธิบอกถึงแง่คิดที่ได้จากการจัดการป่าแบบสวีเดนคือ หนึ่ง สวีเดนโมเดลสร้างความสำเร็จให้สวีเดน แต่ไทยต้องนำมาปรับใช้แบบไทยโมเดล ตามบริบทของประเทศไทย สอง ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภาครัฐต้องเป็นผู้นำ แต่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาคเอกชนต้องมีความคิดริเริ่มเรื่องการปลูกป่าอย่างเหมาะสม รวมทั้งภาคประชาสังคม และชาวบ้าน ทุกฝ่ายต้องมีความตระหนักและช่วยกันดูแล สาม ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่นโดรนและภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเพิ่มคุณภาพการปลูก
และสี่ ต้องทำอย่างเป็นระบบ เอสซีจีดำเนินโครงการรักษ์ภูผาสู่มหานที ตามแนวทาง ESG 4 Plus ทำตั้งแต่เพิ่มการปลูกป่า ตลอดจนสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว 115,000 ฝาย โดยมีเป้าหมายสร้างถึง 150,000 ฝาย เพราะถ้ามีฝาย ก็จะมีแหล่งน้ำบำรุงป่าให้เติบโต โดยมีชาวบ้านช่วยดูแลด้วยทั้งป่าและฝายเพราะอยู่ในพื้นที่
ที่สำคัญคือ การปลูกฝังให้คนรักป่า โดยเฉพาะเด็กๆ คุณนิธิบอกว่า เอสซีจีปลูกป่ามานานกว่า 10 ปี ปลูกต้นไม้มามากกว่าหนึ่งล้านต้น ทุกวันนี้ผมเริ่มเห็นแสงสว่าง มีคนไม่น้อยที่ชอบแคมปิ้ง เริ่มมีการเดินเทรลเช่นที่เขาใหญ่ เป็นเรื่องของปลูกฝังให้คนรักป่า เพราะการจะทำให้คนรักป่าได้ ต้องใกล้ชิดป่า แต่ด้านความเข้าใจเราต้องช่วยกัน เพราะในความเป็นจริงป่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ และเรามีโอกาสที่จะนำป่ากลับคืนมา มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากป่าได้ อย่างสวีเดนใช้ประโยชน์จากป่าปีละหลายพันล้านเหรียญ ขณะที่ป่าก็เติบโตไปด้วย เพียงแต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ดูดาย
ขณะที่ มร. Aaron กล่าวทิ้งท้ายให้คิดว่า สำหรับคนเมืองต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับป่าไม้มาจากคนเมืองอย่างเราๆ ยิ่งมีความต้องการมากเท่าไร ยิ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากเท่านั้น ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดี เราต้องมี Mindset ที่ดีเช่นกัน.